บทความวิชาการ
view 614 facebook twitter mail

‘ไต้หวัน’ บนทางแพร่งของอาเซียน

เกี่ยวกับเอกสาร

หลังการเยือนไต้หวันของแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ก่อให้เกิดการจับตาจากนานาชาติถึงเสถียรภาพและความมั่นคงในช่องแคบไต้หวัน แม้จะยังไม่เกิดภาวะวิกฤติการณ์ใด ๆ แต่เหตุการณ์ครั้งนี้กำลังเป็นโจทย์อันท้าทายต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองของอาเซียน และการปัดฝุ่นทฤษฎีระหว่างประเทศเพื่อรับมือกับระเบียบโลกในยุคสงครามเย็น (ใหม่) ที่อาจเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว

ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม แสดงความกังวลต่อ “การคำนวณที่ผิดพลาด” ซึ่งอาจนำไปสู่การเผชิญหน้าและผลที่ตามซึ่งมิอาจประเมินได้ระหว่างมหาอำนาจ โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยึดมั่นในกฎบัตรสหประชาชาติ พร้อมระบุถึงจุดยืนของประเทศสมาชิกอาเซียนที่สนับสนุนนโยบาย “One-China”

เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าหลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง โครงสร้างการเมืองระหว่างประเทศของอาเซียนมีลักษณะการแบ่งขั้วระหว่างประเทศที่ใกล้ชิดกับจีนและประเทศที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ อันเป็นที่มาของการพัฒนาแนวคิดการรักษา “ความเป็นแกนกลาง” ของอาเซียนในการปฏิสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาค ดังนั้น บทบาทของอาเซียนต่อสถานการณ์โลกจึงเป็นไปในทิศทางที่ไม่แทรกแซงกิจการภายใน และไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อฝ่ายใด

แต่มิอาจปฏิเสธได้ว่าความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นบริเวณช่องแคบไต้หวันมีความเกี่ยวพันกับความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของอาเซียน เนื่องจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจของอาเซียนมีการพึ่งพากันอย่างซับซ้อนกับประเทศนอกภูมิภาคโดยปราศจากการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย จากสถิติของ ASEAN Statistical Yearbook 2021 พบว่า อาเซียนนำเข้าสินค้าจากไต้หวันมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 7 (6.7%) รองจากการนำเข้าจากจีน อาเซียนด้วยกัน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และสหภาพยุโรป ขณะเดียวกัน อาเซียนส่งออกสินค้าไปยังไต้หวันมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 8 (2.8%) รองจากการส่งออกไปอาเซียนด้วยกัน จีน สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ฮ่องกง และเกาหลีใต้ ขณะที่ไต้หวันลงทุนโดยตรง (FDI) ในอาเซียนสูงเป็นอันดับที่ 10 (2.9%)

ในกรณีของประเทศไทย ปี 2564 ไต้หวันมีมูลค่าการค้ากับไทยสูงเป็นอันดับที่ 10 โดยไทยนำเข้าสินค้าจากไต้หวันมูลค่า 336,091 ล้านบาท สินค้านำเข้าอันดับต้น ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เหล็ก เครื่องจักรไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ และเครื่องจักรกล เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นวัตถุดิบสำคัญในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมและภาคการส่งออกของไทย ขณะเดียวกัน ไทยส่งออกสินค้าไปยังไต้หวันมูลค่า 147,160 ล้านบาท ในกลุ่มแผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และรถยนต์ เป็นต้น

ขณะที่ภาคการลงทุนปี 2565 จากข้อมูลของ BOI พบว่า ไต้หวันเป็นประเทศที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากเป็นอันดับหนึ่ง มูลค่ากว่า 37,076 ล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ และไต้หวันเป็นประเทศที่ได้รับอนุมัติให้ส่งเสริมการลงทุนเป็นอันดับที่ 4 มูลค่า 6,242 ล้านบาท รองจากญี่ปุ่น ออสเตรีย และจีน

แม้จะเป็นประเด็นถกเถียงว่าความเคลื่อนไหวในช่องแคบไต้หวันครั้งนี้อาจไม่นำไปสู่การเผชิญหน้าที่บานปลาย เนื่องจากบริบทโลกหลังสงครามเย็นซึ่งเชื่อว่าสงครามเบ็ดเสร็จมีโอกาสเกิดขึ้นได้ลดลง แต่ในทางกลับกันอาจเป็นสัญญาณของปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “แรดเทา” (Grey Rhino) ซึ่งเปรียบเปรยถึงเหตุการณ์ที่มีแนวโน้มความเป็นไปได้สูง มีสัญญาณเตือนมาเป็นระยะ ๆ แต่มักจะถูกละเลยจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ดังที่เคยปรากฏในกรณีรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเคยเป็นที่คาดการณ์ว่าอาเซียนที่อยู่ห่างไกลจะไม่ได้รับผลกระทบทางตรง

แต่ ณ วันนี้ อาเซียนได้ตระหนักแล้วว่าต้นทุนพลังงานเชื้อเพลิง ปุ๋ย ธัญพืช และอาหารสัตว์ที่อาเซียนนำเข้าจากทั้งรัสเซียและยูเครนได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเกษตร ค่าครองชีพ และปัญหาปากท้องของอาเซียนจนถึงปัจจุบัน และหากเกิดวิกฤติการณ์ไต้หวันขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนอาเซียนและเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผู้เขียน
กอปร์ธรรม นีละไพจิตร
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 35 ฉบับที่ 12181 วันพุธที่ 10 สิงหาคม 2565
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 614 facebook twitter mail
Top