บทความวิชาการ
view 649 facebook twitter mail

‘นโยบายส่งออกแรงงาน’ ฟิลิปปินส์

เกี่ยวกับเอกสาร

ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีนโยบายในการส่งออกแรงงานมาอย่างยาวนาน จากข้อมูลของ ILO ระบุว่า ในปัจจุบันมีชาวฟิลิปปินส์กระจายอยู่ตามประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเกือบ 10 ล้านคน ปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงงานอพยพดังกล่าวมีคุณูประการทางเศรษฐกิจทั้งต่อประเทศปลายทางและประเทศต้นทางอย่างยิ่ง

โดยในปี 2022 ที่ผ่านมา รายได้จากการส่งเงินกลับประเทศของชาวฟิลิปปินส์มีสัดส่วนสูงถึง 8.9% ของ GDP ในโอกาสที่จะครบรอบ 50 ปี ของการประกาศใช้กฎหมายแรงงาน ปี 1974 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการส่งออกแรงงานโดยรัฐของฟิลิปปินส์ ในปี 2024 นี้ บทความนี้อยากชวนทุกท่านพิจารณาว่าในสภาวการณ์ปัจจุบัน นโยบายดังกล่าวเป็นโอกาสหรือความท้าทายต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ในอนาคต

            ในเชิงสถิติแล้วรายได้จากแรงงานอพยพสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจฟิลิปปินส์เป็นอย่างมาก และชาวฟิลิปปินส์ก็นิยมไปทำงานต่างประเทศปีละกว่า 1 ล้านคน อย่างไรก็ตามตลาดแรงงานภายในของฟิลิปปินส์เองก็ขาดแคลนแรงงานเช่นกัน โดยเฉพาะแรงงานในสาขา STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) ทำให้ในปัจจุบันยังคงมีข้อถกเถียงอยู่ว่าแท้จริงแล้วการพึ่งพาเงินส่งกลับจากแรงงานข้ามชาตินั้นส่งผลดีต่อพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจของประเทศต้นทางมากน้อยเพียงใด โดยในเชิงมหภาคแล้วการไหลออกของประชากรวัยทำงานจำนวนมาก ถือเป็นการสูญเสียทุนมนุษย์ที่จะช่วยในการยกระดับเศรษฐกิจภายในเช่นกัน

            ในทางทฤษฎี การอพยพของแรงงานข้ามชาติจะนำไปสู่โอกาสในการพัฒนาทักษะและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ทำให้แรงงานอพยพมีทักษะสูงขึ้นจนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองได้ อีกทั้งยังส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อย่างไรก็ตามในความเป็นจริง แรงงานจำนวนมากต้องเผชิญกับการทำงานที่ไม่สอดคล้องกับระดับการศึกษาของตนเอง (skill mismatch) เช่น แพทย์ต้องไปทำงานเป็นพยาบาลในประเทศปลายทาง หรือผู้ถือวุฒิปริญญาตรีแต่กลับเป็นแรงงานไร้ฝีมือ นอกจากนี้แรงงานอพยพส่วนใหญ่มักทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ใช้ทักษะสูง ดังนั้นโอกาสในการพัฒนาทักษะจึงเป็นไปได้น้อย

ประเด็นต่อมาคือความท้าทายทางสังคม สิ่งที่ครอบครัวชาวฟิลิปปินส์ต้องเผชิญจากการไปทำงานยังต่างประเทศคือการเผชิญกับสภาวะครอบครัวแหว่งกลาง (skipped generation family) หรือการขาดแคลนคนวัยทำงานในครอบครัว นอกจากนี้มีงานวิจัยล่าสุดของรัฐบาลฟิลิปปินส์เปิดเผยว่าการอพยพของแรงงานรุ่นพ่อแม่ส่งผลกระทบด้านลบโดยตรงต่อสมาชิกในครอบครัวที่กำลังอยู่ในวัยเรียน

            นอกจากนี้ประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าการพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากแรงงานข้ามชาติเป็นหลักนั้นค่อนข้างเปราะบางต่อปรากฏการณ์ระหว่างประเทศ การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สะท้อนถึงความเปราะบางของการพึ่งพาดังกล่าว ซึ่งเป็นความท้าทายของรัฐบาลฟิลิปปินส์ในการดูแลสวัสดิภาพประชากรของตน

            โดยสรุปแล้วนโยบายส่งออกแรงงานเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการรับมือกับภาวะอุปทานส่วนเกินในตลาดแรงงาน แต่การที่นโยบายดังกล่าวยังคงถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจภายในของประเทศผู้ส่งออก โดยเฉพาะสัดส่วนของประชากรวัยทำงานในประเทศที่มีจำนวนลดลง ดังนั้นคำถามที่สำคัญสำหรับฟิลิปปินส์ในเวลานี้คือ จะทำอยางไรให้เกิดความสมดุลระหว่างการส่งออกแรงงานและการดึงดูดแรงงานไว้เพื่อพัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจภายในต่อไป

ผู้เขียน
ภูชิสส์ ภูมิผักแว่น
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12536 วันพุธที่ 20 ธันวาคม 2566
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top