เกี่ยวกับเอกสาร
ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เปิดเผยรายงานการคาดการณ์เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียฉบับเดือนกรกฎาคม 2567 ภาพรวมชี้ว่าเศรษฐกิจเอเชียครึ่งแรกของปี 2567 ได้รับแรงหนุนจากกำลังซื้อในประเทศและการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าเศรษฐกิจเอเชียปี 2567 จะขยายตัวที่ระดับ 5% และลดลงเล็กน้อยสู่ระดับการขยายตัว 4.9% ในปี 2568
เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ด้วยแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ ภาคการบริโภคได้รับแรงหนุนเชิงบวกจากระดับราคาที่มีเสถียรภาพ และการปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้คาดว่าปี 2567 เศรษฐกิจโดยรวมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะขยายตัว 4.6% และคาดว่าจะปรับเพิ่มเป็น 4.7% ในปี 2568 โดยได้รับแรงหนุนจาก การฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม การใช้จ่ายเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยมีปัจจัยลบที่ต้องจับตา คือ นโยบายการเงินที่มีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น
ปี 2567-2568 เศรษฐกิจอินโดนีเซียคาดว่าจะขยายตัว 5% โดยได้รับแรงหนุนหลักจากการใช้จ่ายของรัฐบาลในหลายรูปแบบซึ่งสามารถชดเชยผลกระทบเชิงลบจากอุปสงค์ในภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนและตกต่ำของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เศรษฐกิจมาเลเซียฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาสแรกปี 2567 ขยายตัวที่ 4.7% เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชน การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในภาคแรงงาน การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น โดยจากสะท้อนจากการลงทุนซื้อเครื่องจักรและเครื่องมือที่เพิ่มขึ้น ภาคการท่องเที่ยวก็ฟื้นตัวชัดเจน
เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ขยายตัวอย่างโดดเด่นจากการฟื้นตัวของภาคการค้าระหว่างประเทศ การจับจ่ายของครัวเรือน การโอนเงินกลับประเทศของชาวฟิลิปปินส์ที่ทำงานในต่างประเทศ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและกิจการรับจ้างบริหารธุรกิจ (Business Process Outsourcing: BPO) คาดว่าเศรษฐกิจฟิลิปปินส์จะขยายตัว 6% ในปี 2567 และเพิ่มเป็น 6.2% ในปี 2568
ส่วนสิงคโปร์ยังคงฟื้นตัวระดับปานกลาง โดยเศรษฐกิจขยายตัว 2.7% ในไตรมาสที่ 1/2567 จากการขับเคลื่อนของภาคบริการและการบริโภคในประเทศ ทั้งนี้คาดว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์ตลอดปี 2567 จะขยายตัว 2.4% และเพิ่มเป็น 2.6% ในปี 2568
เศรษฐกิจเวียดนามยังคงเติบโตแข็งแกรงต่อเนื่องโดยได้รับแรงหนุนจากทั้งภาคการส่งอออกและการบริโภคในประเทศ ภาคการส่งออกขยายตัว 6.4% ในครึ่งแรกของปี 2567 ภาคการเงินมีบทบาทหนุนเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างดี อุปสงค์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหนุนเสริมให้ภาคการส่งออกของเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็ว ภาคการคลังมีส่วนกระตุ้นการเติบโต เพราะรัฐบาลได้ประกาศขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการลดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มลง 2% ออกไปอีก ทั้งนี้คาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 6% ในปี 2567 และเพิ่มเป็น 6.2% ในปี 2568
ADB ชี้ว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลบวกจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง แต่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอาจจะปรับตัวลดลงเนื่องจากการฟื้นตัวมีแนวโน้มชะลอตัวลง คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.6% ในปี 2567 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 3% ในปี 2568
อัตราเงินเฟ้อในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มทรงตัว เนื่องจากแรงกดดันด้านราคาอาหารจากกลุ่มสินค้าอาหารลดลง แม้ว่าราคาน้ำมันยังคงผันผวน อัตราเงินเฟ้อในไทยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1% ในปี 2567 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในเมียนมาและสปป.ลาวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเกิดภาวะสินค้าขาดแคลน แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจของอาเซียนกำลังฟื้นตัว แต่พึงระวังปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้านอกภูมิภาคที่ยังมีความไม่แน่นอน
ผู้เขียน
วิมล ปั้นคง
รองผู้อำนวยการ (วิชาการ)
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12691 วันพุธที่ 24 กรกฎาคม 2567
หน้า 8 (ล่างขวา) คอลัมน์ “Asean Insight”