บทความวิชาการ
view 1208 facebook twitter mail

ความท้าทายเศรษฐกิจอาเซียน 2567

เกี่ยวกับเอกสาร

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ได้คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในรายงาน ASIAN DEVELOPMENT OUTLOOK ธันวาคม 2566 โดยได้ปรับลดการเติบโตโดยภาพรวมลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้าในเดือนกันยายน เหลือ 4.3% จาก 4.6% ในปี 2566 และปี 2567 เหลือ 4.7% จาก 4.8%

การปรับลดการคาดการณ์การเติบโต เนื่องมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยกตัวอย่างเช่น มาเลเซียในปี 2566 ปรับลดจาก 4.5% เป็น 4.2% และปี 2567 จาก 4.9% เป็น 4.6% ซึ่งเศรษฐกิจยังคงซบเซาเนื่องจากอุปสงค์ภายนอกที่ยังอ่อนแอ โดยการส่งออกสินค้าสำคัญทั้งผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า ปิโตรเลียม น้ำมันปาล์ม ลดลง แม้ว่าในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมาจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากอุปสงค์ในประเทศ การจ้างงาน การท่องเที่ยว และความต้องการการลงทุนในมาเลเซียที่เพิ่มขึ้น

เช่นเดียวกับไทย ซึ่ง ADB ได้ปรับลดการเติบโตปี 2566 ปรับลดจาก 3.5% เป็น 2.5% และปี 2567 จาก 3.7% เป็น 3.3%  เนื่องจากการส่งออกหดตัว การใช้จ่ายของภาครัฐที่ลดลง รวมทั้งการชะลอตัวในการลงทุนของภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ยังมีสาเหตุจากดัชนีความเชื่อมั่นในธุรกิจของไทยที่ลดลงจากความกังวลในต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ปัจจุบันการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยวเป็นตัวแปรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ส่วนอินโดนีเซียไม่ได้ถูกปรับลดการคาดการณ์การเติบโตจากที่เคยคาดไว้ โดยยังคงที่อยู่ที่ 5% ทั้งสองปี เนื่องจากในไตรมาสที่ 3 อุปสงค์ภายในประเทศที่ยังคงแข็งแกร่งพร้อมทั้งแรงหนุนจากอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ การเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ลดลงจากอุปสงค์ภายนอกที่ลดลง

กรณีสิงคโปร์ซึ่งยังคงคาดการณ์ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไม่ได้เปลี่ยนไปจากการที่มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า เศรษฐกิจสิงคโปร์ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ 1% ในปี 2566 และ 2.5% ในปี 2567 โดยการบริการและการก่อสร้างยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งในสิงคโปร์

นอกจากนี้ในการคาดการณ์แนวโน้มภาพรวมของอัตราเงินเฟ้อในภูมิภาคซึ่งดำเนินอยู่ตลอดในปี 2566 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยอัตราเงินเฟ้อปี 2567 มีการคาดการณ์ปรับเพิ่มขึ้นจาก 3.3% เป็น 3.5% เนื่องจากความเสี่ยงในการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานอาหารจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ และเอลนีโญ (El Niño) ที่เกิดขึ้น

เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีหน้ายังคงสร้างความท้าทายอย่างมากต่อรัฐบาลในประเทศอาเซียนในการบริหารจัดการ  จากการที่การเติบโตที่ถูกปรับให้ลดลงและอัตราเงินเฟ้อถูกปรับเพิ่มขึ้นจากที่เคยคาดการณ์ไว้ พร้อมทั้งต้องรับมือกับผลกระทบจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้น ความท้าทายจากภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่กำลังเกิดปัญหา รวมทั้งนโยบายการเงินที่มีความเข้มงวดมากขึ้นในสหรัฐอเมริกาและยุโรป

ประเทศในภูมิภาคต้องเร่งปรับตัว สร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจภายใน พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ เพื่อเพิ่มมูลค่าและความสามารถในการแข่งขันในภูมิภาค พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ปรับปรุงกฎระเบียบ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ ในปี 2567

ผู้เขียน
ณัฐจารีย์ เพ็ชรร่วง
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12546 วันพุธที่ 3 มกราคม 2567
หน้า 8 (ล่างซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 1208 facebook twitter mail
Top