บทความวิชาการ
view 441 facebook twitter mail

อาเซียนท่ามกลางกระแสปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน

เกี่ยวกับเอกสาร

ท่ามกลางความกระตือรือร้นในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของโลก นานาประเทศต่างออกนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนสูงขึ้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องปรับตัว รวมถึงมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีนโยบายผ่อนคลายกว่า จนเกิดการรั่วไหลของคาร์บอน (Carbon Leakage) นำไปสู่การนำมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Border Carbon Adjustment: BCA) มาใช้

มาตรการ BCA พยายามลดความแตกต่างของนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศต่างๆ โดยสะท้อนปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะช่วยสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ แต่ในอีกด้าน มาตรการ BCA ถูกมองว่านำมาใช้เพื่อปกป้องสินค้าที่ผลิตในประเทศ

มาตรการ BCA ที่ถูกพูดถึงกันมากคือ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ EU Carbon Border Adjustment Mechanism (EU CBAM) ที่เริ่มใช้บังคับตั้งแต่ ต.ค. 2566 และใช้บังคับเต็มรูปแบบในปี 2569 แต่นอกจากนี้ยังมีมาตรการ BCA ที่ใช้บังคับกับการนำเข้าไฟฟ้าในแคลิฟอร์เนีย อเมริกาอีกด้วย

 กระแสโลกปัจจุบันนานาประเทศมีการพิจารณานำมาตรการ BCA มาใช้บังคับเช่นเดียวกับสหภาพยุโรปเพื่อปรับคาร์บอนของสินค้านำเข้าในประเทศ เช่น สหรัฐ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย แคนาดา ทิศทางการใช้มาตรการ BCA ในอนาคตจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและขยายขอบเขตกว้างขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของการใช้มาตรการ BCA ในอนาคตคือ แต่ละประเทศต่างกำหนดมาตรการฝ่ายเดียว ที่มีมาตรฐานของมาตรการ BCA หลักเกณฑ์ และการคำนวณการปรับคาร์บอนของสินค้าแตกต่างกันไป ซึ่งหากมาตรการ BCA ถูกบังคับใช้จากหลายประเทศ ผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าไปยังประเทศเหล่านั้นจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ จากการใช้มาตรการ EU CBAM ของสหภาพยุโรปยังเป็นแรงผลักดันในทางอ้อมให้ประเทศที่ต้องการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปต้องมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นด้วย ทำให้หลายประเทศรวมถึงประเทศในอาเซียนต่างขยับตัวในเรื่องมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นและจริงจังมากยิ่งขึ้น

จากที่สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน แม้ว่าขอบเขตการบังคับใช้ EU CBAM ในปัจจุบันกำหนดเพียงบางประเภทสินค้าและกระทบต่ออาเซียนอย่างจำกัด แต่ในอนาคตเมื่อ EU CBAM ขยายขอบเขตครอบคลุมสินค้ามากขึ้น อีกทั้งประเทศที่มีแนวโน้มนำมาตรการ BCA มาใช้บังคับในอนาคตล้วนเป็นคู่ค้าสำคัญของอาเซียนทั้งสิ้น อาเซียนก็จะได้รับผลกระทบและต้องปรับตัวอย่างไม่อาจเลี่ยงได้

ประเทศสมาชิกอาเซียนอย่าง อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม รวมถึงไทย ต่างมีกลไกภาษีคาร์บอน ETS หรือกลไกกำหนดราคาคาร์บอนอื่นใช้บังคับ หรืออยู่ระหว่างพิจารณานำกลไกเหล่านี้มาใช้บังคับอย่างจริงจัง หรือแม้กระทั่งนำเสนอความเป็นไปได้ในการการนำมาตรการ BCA มาใช้บังคับเองด้วย

มาตรฐานของมาตรการ BCA ที่หลากหลายจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งออกของอาเซียน โดยเฉพาะในประเทศที่พึ่งพาการส่งออกอย่างไทย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่อาเซียนจะต้องมีบทบาทที่เข้มแข็งในการผลักดันเรื่องการกำหนดมาตรฐานร่วมกันของมาตรการ BCA เพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบการและศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกของอาเซียน

ผู้เขียน
ภัชชา ธำรงอาจริยกุล
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12581 วันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567
หน้า 8 (ล่างซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top