บทความวิชาการ
view 503 facebook twitter mail

สถานการณ์การพัฒนาที่ยั่งยืนในเอเชีย-แปซิฟิก ปี 2024

เกี่ยวกับเอกสาร

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นชุดเป้าหมายการพัฒนาระดับโลกที่ได้รับการรับรองจาก 193 ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2015 ครอบคลุมช่วงระยะเวลาที่ต้องบรรลุภายใน 15 ปี  เอกสารที่ประเทศสมาชิกทั้งหมดลงนามรับรองเป็นพันธะสัญญาเรียกว่า “Transforming Our World: the 2030 Agenda for Sustainable Development” หรือ “วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030” เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมีทั้งหมด 17 เป้าหมาย (Goals) ภายใต้หนึ่งเป้าหมายประกอบด้วยเป้าหมายย่อย (Targets) ทั้งหมด 169 เป้าหมายย่อย และมีตัวชี้วัด 232 ตัวชี้วัด 

UNESCAP ได้เผยแพร่รายงานความก้าวหน้าการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ปี 2024  โดยรายงานนี้ระบุว่า ปี 2024 ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ 1 ใน 3 เป้าหมายการดำเนินงานที่จำเป็นเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2030 หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 17% ของการดำเนินงานที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินงานสามารถบรรลุเป้าหมายทั้งหมด 17 เป้าหมายในปี 2030  ทั้งนี้ความล่าช้ามีสาเหตุจากการระบาดของโควิด-19 และความขัดแย้งในโลกซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตของห่วงโซ่อุปทานโลก

เมื่อพิจารณาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งหมด พบว่า ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกมีความก้าวหน้าในการลดความยากจน (เป้าหมายที่ 1) การพัฒนานวัตกรรมของภาคอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน (เป้าหมายที่ 9) ความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมเห็นได้ชัดในประเทศกำลังพัฒนาที่มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร

ส่วนเป้าหมายที่มีความก้าวหน้าน้อย ได้แก่ การลดความหิวโหย (เป้าหมายที่ 2) การส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี (เป้าหมายที่ 3) การเข้าถึงน้ำที่สะอาด (เป้าหมายที่ 6) การพัฒนาและการใช้พลังงานสะอาด (เป้าหมายที่ 7) รวมทั้งการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน

รายงานนี้ชี้ให้เห็นว่า ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกควรให้ความสำคัญกับการดำเนินงานเพื่อลดภาวะโลกร้อน (เป้าหมายที่ 13) ซึ่งมีผลการดำเนินงานถดถอยลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา  โดยควรผลักดันมาตรการลดโลกร้อนให้เป็นแผนระดับชาติ ทั้งนี้การประเมินผลการลดโลกร้อนประสบกับภาวะขาดแคลนข้อมูลค่อนข้างมาก ทั้งนี้รายงานนี้ระบุว่าการลดผลกระทบจากโลกร้อนควรดำเนินควบคู่กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีคุณภาพ (เป้าหมายที่ 8) และการบริโภคที่มีความรับผิดชอบ (เป้าหมายที่ 12) รวมทั้งการให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของสิ่งมีชีวิตในทะเล (เป้าหมายที่ 14)

ความสำคัญเร่งด่วนที่ประเทศในภูมิภาคนี้ควรเร่งดำเนินการ คือ การพัฒนาคุณภาพการศึกษา  (เป้าหมายที่ 4) การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ การเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เข้าสู่ตลาดแรงงาน (เป้าหมายที่ 5)

อย่างไรก็ตามการประเมินความก้าวหน้าการบรรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประสบกับปัญหาการขาดแคลนข้อมูลในหลายตัวชี้วัดซึ่งไม่สามารถประเมินความก้าวหน้าได้  ทั้งนี้รายงานฉบับนี้คาดการณ์ว่า หากประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกไม่เร่งพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน จะส่งผลให้การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอาจต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นจากที่เคยกำหนดถึง 32 ปี

ผู้เขียน
วิมล ปั้นคง
รองผู้อำนวยการ (วิชาการ)
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12591 วันพุธที่ 6 มีนาคม 2567
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top