บทความวิชาการ
view 477 facebook twitter mail

ปี 2024 เศรษฐกิจเอเชียดีขึ้น เผชิญปัจจัยเสี่ยง

เกี่ยวกับเอกสาร

รายงานแนวโน้มการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Outlook 2024) ฉบับเดือนเมษายน 2024 จัดทำโดยธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียชี้ให้เห็นถึงเศรษฐกิจเอเชียมีการพัฒนาที่ดีขึ้น หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียกล่าวว่า เศรษฐกิจโดยรวมเอเชียแข็งแกร่งขึ้น แม้ว่าปัจจัยภายนอกภูมิภาคจะยังมีความไม่แน่นอน  ปัจจัยที่ส่งผลดีต่อแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย ประกอบด้วยการสิ้นสุดลงของอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น การฟื้นตัวของอุปสงค์สินค้าส่งออกในตลาดโลกโดยรวม ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากวงจรขาขึ้นขอวัฏจักรการค้าสินค้าเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมเอเชียปรับตัวดีขึ้น คาดว่าเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียปี 2024 และปี 2025 จะขยายตัว 4.9%

รายงานฉบับนี้ยังชี้ว่า ถึงแม้เศรษฐกิจจะดีขึ้นแต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามและประเมิน ได้แก่ (1) ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งจะส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานสินค้าที่ผลิตในภูมิภาคอาจต้องชะงักงัน รวมทั้งจะส่งผลให้ระดับราคาในภูมิภาคผันผวน (2) การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารกลางสหรัฐฯ (3) สถานการณ์ปัญหาของตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีน  (4) ผลกระทบด้านลบจากความแปรปรวนของสภาพแวดล้อมด้านภูมิอากาศ 

ทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียควรให้ความสำคัญกับการยกระดับความสามารถด้านการปรับตัวของระบบเศรษฐกิจจากผลกระทบของปัจจัยภายนอกประเทศ โดยมุ่งส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ การลงทุนข้ามพรมแดน และการเชื่อมโยงห่วงโซ่สินค้าโภคภัณฑ์ร่วมกัน

ตัวอย่างเศรษฐกิจของประเทศในอาเซียนที่มีความน่าสนใจ เช่น เศรษฐกิจอินโดนีเชียคาดว่าจะขยายตัว 5% ในปี 2024 และเติบโตระดับเดียวกันในปี 2025 โดยได้รับอิทธิพลจากปัจจัยขับเคลื่อนจากการเติบโตการบริโภคในประเทศ ความต่อเนื่องของการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล รวมทั้งการลงทุนของภาคเอกชน  อัตราเงินเฟ้อปี 2024 จะอยู่ที่ระดับ 2.8% ลดลงจากระดับ 3.7% เมื่อปี 2023  นโยบายระยะยาวของอินโดนีเชีย ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภาพการผลิตโดยรวมของประเทศ การพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ  รวมทั้งการพัฒนาระบบการคุ้มครองทางสังคม

เศรษฐกิจมาเลเซียคาดว่าจะขยายตัว 4.5% ในปี 2024 และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 4.7% ในปี 2025 โดยได้รับอิทธิพลเชิงบวกจากการบริโภคในประเทศ การฟื้นตัวของภาคกาผลิตเพื่อการส่งออก รวมทั้งได้รับอิทธิพลจากนโยบายการเงินที่ส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ  ระดับอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง ความท้าทายของดำเนินนโยบายมาเลเซีย คือ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อก้าวสู่เศรษฐกิจสีเขียว การปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 

ส่วนเศรษฐกิจไทย ADB ชี้ว่า ปี 2023 เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง  เนื่องจากความล่าช้าของการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ และปัจจัยภายนอกประเทศที่ส่งผลให้ภาคการส่งออกไทยไม่เติบโต ทั้งนี้ปี 2024 และปี 2025 เศรษฐกิจไทยจะได้รับอิทธิพลเชิงบวกจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การใช้จ่ายภาครัฐและการปรับตัวดีขึ้นของภาคการส่งออก  คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.6% ในปี 2024 และเพิ่มขึ้นเป็น 3% ในปี 2025 ความสี่ยงที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย คือ ผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลก และประสิทธิผลของการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว

วิมล ปั้นคง
รองผู้อำนวยการ (วิชาการ)
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12621 วันพุธที่ 17 เมษายน 2567
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top