บทความวิชาการ
view 526 facebook twitter mail

การพัฒนา ‘ท่องเที่ยวอัจฉริยะอาเซียน’

เกี่ยวกับเอกสาร

การท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจในอาเซียน เพราะสร้างรายได้ถึง 12% ของ GDP โดยรวมของภูมิภาคนี้ จากข้อมูลของ UNWTO (2022) หลังจากวิกฤติ Covid-19 เกิดขึ้น ในปี 2020 รายได้ทั่วโลกจากการท่องเที่ยวระหว่างประเทศลดลงกว่า 72% ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยในอาเซียนรายได้ลดลงถึงร้อยละ 75%ต่อมาเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว และอาเซียนเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เป็นสัญญาณดีที่แสดงถึงศักยภาพการปรับตัวของอาเซียน

ความพยายามในการฟื้นตัวหลังสถานการณ์ Covid-19 จะมุ่งเป้าสู่การสร้างความยั่งยืน ความยืดหยุ่น และก้าวไปข้างหน้าให้ดียิ่งขึ้นของภาคการท่องเที่ยว การดำเนินนโยบายที่ส่งเสริมให้ประยุกต์การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อขยายการท่องเที่ยวจากรูปแบบดั้งเดิม เป็นการท่องเที่ยวอิเล็กทรอนิกส์ การท่องเที่ยว 4.0 และสุดท้ายคือการท่องเที่ยวอัจฉริยะ นโยบายนี้มีการเสนอขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ยั่งยืน

หลายประเทศของอาเซียนมีนโยบายและยุทธศาสตร์ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาการท่องเที่ยว เช่น อินโดนีเซียมีแผนยุทธศาสตร์ที่มุ่งพัฒนา Big Data และ AI เพื่อช่วยในการวิเคราะห์รูปแบบการเดินทาง เวียดนามเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนานิเวศการท่องเที่ยวอัจฉริยะและสนับสนุนการเชื่อมต่อระหว่างภาครัฐ ธุรกิจ และนักท่องเที่ยวส่วนไทยมีแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติฉบับที่ 3 ที่ส่งเสริมการใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อเพิ่มความสามารถในการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อจัดการนักท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน การลดช่องว่างทางดิจิทัลและการสร้างการท่องเที่ยวอัจฉริยะเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ  จากการศึกษาวิจัยของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียเรื่องความพร้อมในการพัฒนาระบบนิเวศการท่องเที่ยวอัจฉริยะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่าระบบนิเวศการท่องเที่ยวอัจริยะ หมายถึง ระบบการท่องเที่ยวที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการแข่งขันของจุดหมายปลายทาง โดยการเพิ่มประสบการณ์การท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมธุรกิจและนวัตกรรม และเพิ่มความยั่งยืนผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพของทรัพยากร

ภาพรวมปัจจุบันประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเผชิญกับอุปสรรคทั้งด้านเงินทุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ICT และข้อจำกัดทักษะด้านดิจิทัล ความแตกต่างระหว่างดิจิทัลระหว่างเมืองและชนบท รวมถึงด้านนโยบายและกฎหมายด้านดิจิทัล เช่น ความปลอดภัยทางไซเบอร์ ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล

เพื่อจัดการกับอุปสรรคดังกล่าวจึงมีการเสนอว่าแต่ละประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควรมีการจัดสรรทรัพยากรที่มากขึ้นเพื่อดึงดูดการลงทุนพัฒนาโครงสร้างด้าน ICT และส่งเสริมการอบรม รวมทั้งควรใช้แพลตฟอร์มความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางกฎหมายและนโยบายของระบบนิเวศการท่องเที่ยวอัจฉริยะด้วย

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ในการท่องเที่ยวอัจฉริยะไทยยังคงมีความได้เปรียบในด้านความสามารถในการแข่งขัน สภาพแวดล้อมทางกฎหมาย การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ความเร็วของอินเทอร์เน็ต และความพร้อมของบุคลากรด้านดิจิทัล อย่างไรก็ตามยังมีช่องว่างและอุปสรรคหลายประการที่ไทยยังคงต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อเข้าสู่การท่องเที่ยวอัจฉริยะอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน การลงทุน สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศให้เติบโตไปได้อย่างยั่งยืน

ผู้เขียน
ณัฐจารีย์ เพ็ชรร่วง
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12641 วันพุธที่ 15 พฤษภาคม 2567
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top