บทความวิชาการ
view 490 facebook twitter mail

ห่วงโซ่คุณค่าข้อมูลอาเซียน

เกี่ยวกับเอกสาร

ข้อมูล (Data) มีความสำคัญและเป็นหัวใจของยุคดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบทบาทของข้อมูลเป็นมากกว่าปัจจัยในการวิเคราะห์ตลาด ข้อมูลถูกใช้งานและมีความจำเป็นมากกว่าเดิม ทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจและอุตสาหกรรมอยู่ล้อมรอบข้อมูลในด้านต่าง ๆ

ห่วงโซ่คุณค่าข้อมูล หรือ Data value chain ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงกันมากขึ้นระยะหลังในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลมีบทบาทในทุกภาคส่วน โดยห่วงโซ่คุณค่าข้อมูลคือกิจกรรมหรือกระบวนการเพื่อดึงคุณค่าของข้อมูลทีละขั้นตอนตลอดวงจรชีวิตของข้อมูลตั้งแต่ข้อมูลดิบไปจนถึงข้อมูลเชิงลึกและการนำกลับมาใช้ซ้ำ โดยห่วงโซ่คุณค่าข้อมูลสามารถแบ่งได้เป็น 4 กระบวนการ ได้แก่

การเก็บข้อมูล เป็นการรวบรวม กลั่นกรองข้อมูลก่อนส่งต่อหรือนำไปไว้ในคลังข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ต่อไป ซึ่งต้องมีเครื่องมือหรือกลไกในการเก็บและรับข้อมูลแบบ big data รวมถึงจัดการข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยืดหยุ่น เช่น การเก็บข้อมูลโดยใช้แพลตฟอร์มที่ถูกใช้จากผู้ใช้งาน ในอาเซียนมีหลากหลายแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยม สามารถเข้าถึงและเก็บข้อมูลจากผู้ใช้งานได้อย่างมหาศาล ทั้งแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ แพลตฟอร์มเพื่อการเดินทาง แพลตฟอร์มด้านบริการส่งอาหารหรือบริการจองที่พัก

การส่งข้อมูล กระบวนการเพื่อส่งผ่านหรือส่งต่อข้อมูลซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้โครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว รวมถึงการส่งข้อมูลระหว่างประเทศ เช่น การส่งข้อมูลผ่านเคเบิลใต้น้ำหรือดาวเทียม ซึ่งเห็นได้ว่าประเทศสมาชิกอาเซียนต่างลงทุนเพื่อพัฒนาการส่งข้อมูลผ่านเคเบิลใต้น้ำที่มีความสำคัญในการส่งและเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างประเทศอย่างมาก

การจัดเก็บข้อมูล ซึ่งต้องจัดเก็บรักษาข้อมูลที่สามารถปรับขนาดได้เพื่อสอดคล้องความต้องการในการเข้าถึงข้อมูลอย่างรวดเร็ว เช่น Data center ข้อมูลจาก Baxtel ระบุว่า อาเซียนมี Data center ในภูมิภาค 239 แห่ง เนื้อที่ 8.16 ล้านตารางฟุต ใช้ไฟ 1,305 เมกะวัตต์ โดยผู้ให้บริการ 86 ราย และยังมี Data center ที่อยู่ระหว่างการสร้างอีก 22 แห่ง ซึ่ง Data center ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียนคือ Google: Lok Yang 1 ตั้งอยู่ในสิงคโปร์

การประมวลผล วิเคราะห์ และใช้ข้อมูล ทำข้อมูลดิบที่ได้รับมาให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ โดยมีเป้าหมายไปที่ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง สังเคราะห์แยกข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อนำมาใช้งาน เช่น การประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ AI

โอกาสจากกิจกรรมทางธุรกิจและอุตสาหกรรมในห่วงโซ่คุณค่าข้อมูลมีมูลค่าสูงมาก บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและจีน ต่างเพิ่มการลงทุนในห่วงโซ่คุณค่าข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีอำนาจทางการเงิน การตลาด เทคโนโลยี และควบคุมข้อมูลของผู้ใช้งานจำนวนมาก และหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 บริษัทเหล่านี้ก็ยิ่งมีอิทธิพลเด่นชัดจากการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลที่ถูกเร่งให้เกิดขึ้น

อาเซียนที่ถูกเร่งเข้าสู่ดิจิทัลต้องมีการปรับตัวในหลายด้าน รวมถึงการเข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่าข้อมูลโลก และเมื่อต้องแข่งขันในห่วงโซ่คุณค่าข้อมูลโลก อาเซียนยิ่งจำเป็นต้องเพิ่มการลงทุนเพื่อเพิ่มบทบาทของภูมิภาคอาเซียนในการมีส่วนร่วมกับวงจรชีวิตของข้อมูลในห่วงโซ่คุณค่าข้อมูลโลก

ผู้เขียน
ภัชชา ธำรงอาจริยกุล
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12521 วันพุธที่ 29 พฤศจิกายน 2566
หน้า 8 (ล่าง) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 490 facebook twitter mail
Top