บทความวิชาการ
view 530 facebook twitter mail

มาตรฐานโดยสมัครใจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เกี่ยวกับเอกสาร

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การค้าระหว่างประเทศภายใต้การผลิตและการจัดการในรูปแบบห่วงโซ่มูลค่าโลก (GVCs) มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก รายงานของ OECD ปี 2021 ระบุว่า ประมาณ 70% ของการค้าระหว่างประเทศอยู่ภายใต้รูปแบบห่วงโซ่มูลค่าโลก รายงานของ UNCTAD ปี 2022 ระบุว่า มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของโลกในปี 2021 มีมากถึง 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

            แม้ว่าการค้าระหว่างประเทศก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศในด้านต่าง ๆ ทั้งการสร้างรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น ลดความยากจน สร้างอาชีพ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ แต่ทว่าการผลิตและการบริโภคจากการค้าระหว่างประเทศมีส่วนทำให้เกิดผลกระทบต่อด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในหลายมิติ เช่น มลภาวะจากการผลิตทั้งภาวะน้ำเสีย อากาศเป็นพิษ ภาวะฝุ่นละออง รวมทั้งการเกิดภาวะโลกร้อน  การละเมิดสิทธิแรงงานและการใช้แรงงานเด็ก รวมถึงสุขภาวะที่ไม่ปลอดภัยในการทำงาน ภาวะเช่นนี้ถือเป็นผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการต้องการลดต้นทุนการผลิตโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบภายนอกที่เกิดขึ้นจากการประกอบการ

            ภายใต้สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลง หลายประเทศตระหนักถึงความสำคัญของการค้าที่ยั่งยืน (Sustainable Trade) ทั้งการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และการนำ มาตรฐานโดยสมัครใจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Voluntary Sustainable Standards: VSS) มาเป็นข้อกำหนดในกระบวนการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์

            รายงานของ UNCTAD ปี 2023 เรื่อง Voluntary Sustainable Standards in International Trade ได้กล่าวถึงนิยามของ VSS ว่าเป็น มาตรฐานที่ระบุถึงข้อกำหนดที่ผู้ผลิต ผู้ค้า รวมถึงผู้ค้าปลีก และผู้ให้บริการ อาจถูกขอให้ดำเนินการตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน การเคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน สุขภาพและความปลอดภัยของคนงาน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อชุมชน การวางแผนการใช้ที่ดิน เป็นต้น

            รายงานนี้ยังกล่าวถึงจำนวนของ VSS ซึ่งมีมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยฐานของข้อมูลของ ITC Standards Map และ Ecolabel Index ปี 2022 ระบุว่า จากช่วงต้นปี 1980 มี VSS รวม 3-4 มาตรฐาน แต่ปี 2022 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 300-450 มาตรฐาน

VSS มีบทบาทและเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำกับดูแลให้การค้าระหว่างประเทศดำเนินการตามแนวทางของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ หน่วยงานที่กำหนดมาตรฐานมาจากทั้งระดับความร่วมมือระหว่างประเทศ บรรษัทข้ามชาติ รวมถึงองค์กรนอกภาครัฐ (NGOs) และองค์กรภาคประชาสังคม (CSO)

การดำเนินงานตามมาตรฐานของ VSS ส่วนใหญ่จะนำมาใช้กับสินค้าเกษตร ที่ผลิตและส่งออกโดยประเทศกำลังพัฒนา ด้วยยังมีกระบวนการผลิตที่ยังทำลายสิ่งแวดล้อมและใช้แรงงานเข้มข้น เช่น กล้วย โกโก้ ฝ้าย น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง อ้อย ชา

VSS ที่รู้จักและดำเนินการอย่างแพร่หลาย เช่น Fairtrade ซึ่งคิดค้นโดยองค์กรอิสระ Fairtrade International เป็นตราสัญลักษณ์รับรองคุณภาพสินค้าตามมาตรฐาน Fairtrade ที่องค์กรกำหนด เช่น มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม โดยสินค้าที่ผลิตต้องไม่ทำลายธรรมชาติ ไม่มีส่วนผสมของ GMO มีมาตรฐานการรักษาราคาตลาด และมาตรฐานด้านสังคม การจ้างงานที่เป็นธรรม การห้ามแรงงานเด็ก ตัวอย่าง สินค้าของไทยที่ได้รับตรา Fairtrade เช่น กาแฟของดอยช้าง, สับปะรดกระป๋องของสหกรณ์ชาวไร่สับปะรดสามร้อยยอด จำกัด

            ในอาเซียน มี VSS ที่นำมาใช้อยู่เช่นกัน เช่น RSPO (The Roundtable on Sustainable Palm Oil) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่สนับสนุนให้มีการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ตั้งแต่เกษตรกรผู้ผลิตทะลายปาล์ม โรงสกัดน้ำมันปาล์ม และโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม เป้าหมายเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยมีหน่วยงานรับรองมาตรฐานดังกล่าว

ภาคเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ปรับตัวและดำเนินการผลิตสินค้าเพื่อให้ได้ตามข้อกำหนดของ VSS เพื่อให้ส่งออกและแข่งขันในตลาดโลกได้  แต่ผู้ประกอบการ SMEs อาจยังไม่มีศักยภาพเพียงพอให้ปรับตัวตามได้มากนัก เนื่องจากการดำเนินการตาม VSS ต้องใช้ต้นทุนที่สูง ทั้งการผลิตให้ได้ตามมาตรฐาน การรับรอง การตรวจสอบ และการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในกระบวนการผลิตที่ต้องบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการช่วยเหลือเพื่อให้ SMEs สามารถพัฒนาและปรับตัวได้จึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งภาครัฐและองค์กรภาคเอกชนต้องมีส่วนร่วมผลักดันและช่วยเหลือกันทั้งองคาพยพ

ผู้เขียน
น้ำผึ้ง ทัศนัยพิทักษ์กุล
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12296 วันพุธที่ 18 มกราคม 2566
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 530 facebook twitter mail
Top