บทความวิชาการ
view 721 facebook twitter mail

ข้อพิพาท ‘น้ำมันปาล์ม’ อียู-อินโดนีเซียและมาเลเซีย

เกี่ยวกับเอกสาร

ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก มาเลเซียและอินโดนีเซียเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกปาล์มน้ำมันที่สำคัญของโลกเมื่อต้นเดือนมกราคม  นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม ได้เยือนประเทศอินโดนีเซียเพื่อเข้าพบกับประธานาธิบดีโจโก วิโดโด  หนึ่งในประเด็นหลักในการหารือ คือ การกระชับความร่วมมือเพื่อต่อต้านกฎระเบียบใหม่ของสหภาพยุโรปซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำมันปาล์ม โดยระบุว่ากฎระเบียบดังกล่าวเป็นการปิดกั้นการเข้าถึงตลาดและเป็นการเลือกปฏิบัติ

            กฎระเบียบดังกล่าว คือ กฎระเบียบเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่าในยุโรปและส่วนอื่นๆ ของโลก (Regulation on deforestation-free products) เนื่องจากปัจจุบันการตัดไม้ทำลายป่าเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

            การขยายพื้นที่การเกษตรเพื่อการผลิตสินค้าเป็นสาเหตุสำคัญในการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่การเกษตร องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประมาณการว่าในช่วงปี 2533-2563 โลกสูญเสียพื้นที่ป่าปกคลุมไปกว่า 178 ล้านเฮกตาร์ ซึ่งเทียบเท่าได้กับสามเท่าของพื้นที่ประเทศฝรั่งเศส             สาระสำคัญของกฎระเบียบดังกล่าวได้กำหนดผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าไว้ทั้งหมด 7 สินค้า ประกอบด้วย น้ำมันปาล์ม ปศุสัตว์  ถั่วเหลือง กาแฟ โกโก้ ไม้ และยางพารา  เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 สหภาพยุโรปได้เห็นชอบร่างกฎระเบียบดังกล่าวในเบื้องต้นแล้ว กฎระเบียบนี้ริเริ่มขึ้นก่อนเริ่มต้นการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 (COP15)

            ทั้งนี้คาดการณ์ว่ากฎระเบียบดังกล่าวนี้จะมีผลบังคับใช้ช่วงกลางปี 2566 เมื่อกฎระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ผู้ประกอบการจะมีเวลา 18 เดือนในการดำเนินการตามกฎระเบียบ โดย ผู้ประกอบการกลุ่ม MSMEs จะมีระยะเวลาการปรับตัวที่ยาวนานกว่า เช่นเดียวกับข้อกำหนดเฉพาะอื่น ๆ ในการปฏิบัติตามกฎระเบียบฉบับนี้ประเทศผู้ส่งออกต้องมีการยื่นหลักฐานเพื่อแสดงว่าผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกไปไม่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า

            น้ำมันปาล์มเป็นสินค้าสำคัญในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย และมาเลเซียมีผลผลิตรวมกันประมาณ 84% ของการผลิตทั่วโลก เป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับที่ 1 และ 2 ของโลกตามลำดับ โดยทั้งสองประเทศพึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก ประเทศทั้งสองมีปริมาณการส่งออกรวมกันประมาณ  86% ของการส่งออกทั่วโลก โดยประเทศผู้นำเข้าหลักประกอบด้วย  ได้แก่ อินเดีย (19%), จีน (10%) และสหภาพยุโรป (12%) กฎระเบียบใหม่ที่ออกมาจึงเป็นการสร้างอุปสรรคในการส่งออกสินค้าไปยังตลาดยุโรป

            สหภาพยุโรปมีความพยายามในการลดการใช้น้ำมันปาล์ม โดยรัฐสภายุโรป (European Parliament) ได้ออกคำสั่ง “Renewable Energy Directive, Directive (EU) 2018/2001, (RED II) “ กำหนดว่ายุโรปต้องใช้พลังงานทางเลือก และลดการใช้พลังงานจากน้ำมันปาล์มเป็น “Zero Palm Oil” ในปี 2573 ส่งผลให้เกิดประเด็นข้อพิพาทกับอินโดนีเซียและมาเลเซียมาตลอด ส่งผลให้ทั้งสองประเทศยื่นฟ้องสหภาพยุโรปต่อองค์การการค้าโลก (WTO)

            กฎระเบียบเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่าที่กำลังจะถูกบังคับใช้ในการส่งออกน้ำมันปาล์มเหมือนเป็นการเพิ่มความตึงเครียดในการค้าระหว่างสหภาพยุโรปและอินโดนีเซีย-มาเลเซียจากเดิมที่มีอยู่แล้ว เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566  รองนายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้กล่าวว่ารัฐบาลกำลังพิจารณาการห้ามการส่งออกน้ำมันปาล์มไปยังสหภาพยุโรป

ในอนาคตกฎระเบียบเกี่ยวกับการลดการตัดไม้ทำลายป่าเป็นประเด็นที่จับตามอง เพราะส่งผลกระทบอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ในระยะสั้นอาจแก้ปัญหาได้ด้วยการเจรจาเพื่อลดการตอบโต้โดยการใช้มาตรการทางการค้าต่าง ๆ แต่ในระยะยาวในประเทศส่งออกอาจต้องปรับกระบวนการผลิตในประเทศให้สอดคล้องกับกฎระเบียบที่ออกมา เพื่อรักษาฐานตลาดในการส่งออก

ผู้เขียน
ณัฐจารีย์ เพ็ชรร่วง
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12301 วันพุธที่ 25 มกราคม 2566
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 721 facebook twitter mail
Top