บทความวิชาการ
view 1407 facebook twitter mail

อาเซียนกับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

เกี่ยวกับเอกสาร

ภาคพลังงานเป็นภาคส่วนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดประมาณ 2 ใน 3 ของโลก IEA รายงานว่า ปี 2564 ทั่วโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 4.08 หมื่นล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ทั้งนี้ประมาณ  89% เป็นคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้พลังงานและกระบวนการทางอุตสาหกรรมโดยมีคาร์บอนไดออกไซด์จากถ่านหินมากกว่า 40%

การเปลี่ยนผ่านการผลิตและการใช้พลังงานจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ต้องเป็นการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อ 7 สร้างหลักประกันว่าทุกคนเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืน

ในปี 2563 สัดส่วนพลังงานสะอาดของอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็น 14%  เนื่องจากแหล่งพลังงานสีเขียวของอาเซียนมีอยู่มาก เช่น เวียดนามมีภาคการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์เติบโตอย่างมาก สปป.ลาวที่มีการผลิตพลังงานน้ำ อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ก็สามารถผลิตพลังงานความร้อนใต้พิภพได้ถึง 1 ใน 4 ของโลก

อย่างไรก็ตาม อาเซียนเป็นผู้ใช้พลังงานมากเป็นอันดับ 4 ของโลก โครงสร้างพลังงานยังมีการผลิตในรูปแบบดั้งเดิม โดยเชื้อเพลิงฟอสซิลมีสัดส่วนสูงถึง 83% และความต้องการพลังงานของภูมิภาคก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

แม้ประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศจะตั้งเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) หรือเป้าหมายปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (net zero) แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้โดยง่าย โดยเฉพาะการเปลี่ยนจากพลังงานถ่านหินมาเป็นพลังงานทดแทนอื่น

พันธมิตรการเปลี่ยนผ่านพลังงานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Energy Transition Partnership: ETP) ซึ่งเป็นพันธมิตรจากทั้งภาครัฐและหน่วยงานผู้สนับสนุนอื่นเพื่อช่วยเร่งการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างยั่งยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สอดคล้องกับความตกลงปารีสและ SDG โดย ETP ภายใต้การสนับสนุนของ UNOPS ดำเนินโครงการเพื่อขับเคลื่อนและช่วยเหลือการเปลี่ยนผ่านพลังงานในอินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ รวมถึงในภูมิภาค

นอกจากนี้ อินโดนีเซียและเวียดนามยังบรรลุข้อตกลงการเป็นพันธมิตรด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition Partnership: JETP) ซึ่งเป็นเวทีความตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศที่สนับสนุนด้านการเงินในการเปลี่ยนผ่านพลังงานเพื่อให้เลิกใช้พลังงานถ่านหินโดยเร็ว ขับเคลื่อนภาคผู้ลงทุนเอกชนให้สนับสนุนการดำเนินการเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน และมีการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมสำหรับประชาชน

ข้อตกลง JETP ของอินโดนีเซียร่วมกับพันธมิตรนานาชาติอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป แคนาดา อินโดนีเซียจะได้รับการสนับสนุนเบื้องต้นในรูปแบบต่าง ๆ จากรัฐและเอกชนรวม 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยเปลี่ยนผ่านจากพลังงานถ่านหิน ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของพลังงานหมุนเวียน และช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบให้ปรับตัวจากการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

ขณะที่เวียดนามซึ่งเป็นผู้ใช้ถ่านหินหนึ่งใน 20 อันดับแรกของโลก ได้ลงนามข้อตกลงกับพันธมิตรนานาชาติอย่างสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ได้รับการสนับสนุนจากรัฐและเอกชนในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน 1.55 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเร่งลดการปล่อยคาร์บอนและเพิ่มพลังงานหมุนเวียน

การเร่งเปลี่ยนผ่านพลังงานจากพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานสะอาดของอาเซียนจะเป็นส่วนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายทางสิ่งแวดล้อมของโลก จะส่งผลต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมหาศาล พร้อมทั้งยังสามารถเป็นแหล่งผลิตพลังงานธรรมชาติของโลกได้  ทั้งนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนจะจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติ ทั้งการสนับสนุนทางการเงินและการสนับสนุนทางเทคนิค

ประเทศสมาชิกอาเซียนเองก็ต้องมีเจตจำนงที่ชัดเจนในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน มีการปฏิรูปทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งมีกลไกการตลาดที่สนับสนุนอย่างครบถ้วน อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านพลังงานต้องเป็นธรรมและยึดโยงโดยถือคนเป็นศูนย์กลางอย่างไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งจะช่วยสร้างงาน ยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันได้

ผู้เขียน
ภัชชา ธำรงอาจริยกุล
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12306 วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 1407 facebook twitter mail
Top