บทความวิชาการ
view 1072 facebook twitter mail

PM 2.5 สู่ความท้าทายเจตจำนงสิ่งแวดล้อมอาเซียน

เกี่ยวกับเอกสาร

สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ซึ่งมีปริมาณสูงขึ้นในหลายประเทศในอาเซียนช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามิได้ส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยของประชาชนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อวัฏจักรการเติบโตทางเศรษฐกิจ ระบบสาธารณสุข ระบบนิเวศและการเจริญเติบโตของพืชผลการเกษตร คุณภาพชีวิตประชาชน และความเหลื่อมล้ำในสังคม PM 2.5 จึงเป็นปัญหาเรื้อรังที่ไม่สามารถแก้ไขเฉพาะภายในประเทศได้แต่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน

เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา ศูนย์เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาอาเซียน (ASEAN Specialised Meteorological Centre: ACMC) ประกาศแจ้งเตือนภัยระดับที่ 2 (ระดับสีส้ม : มีความเสี่ยงเกิดหมอกควันข้ามพรมแดนมากขึ้น) บริเวณอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง  เนื่องจากดาวเทียม NOAA-20 ตรวจจับพบจุดความร้อน (Hotspot) เป็นกลุ่มที่ปล่อยหมอกควันโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกของกัมพูชา และภาคเหนือของเมียนมา รวมถึงจุด Hotspot แยกย่อยกระจายตัวในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงรวมกันกว่า 757 จุด โดยในช่วง 1 สัปดาห์ต่อจากนี้ทิศทางลมจะพัดกระจายจากทิศเหนือหรือทิศตะวันออก จึงมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเกิดสถานการณ์หมอกควันข้ามพรมแดน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้นตอปัญหามลพิษข้ามพรมแดนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในอาเซียนเป็นผลกระทบทางลบจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากส่วนหนึ่งของ Hotspot เกิดขึ้นจากการเผาปรับหน้าดินเพื่อเตรียมพื้นที่เกษตรกรรม การปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม ไอเสียจากรถยนต์และรถบรรทุกขนส่งสินค้า โดยอาเซียนประเมินว่าอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอาเซียนจะเพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุดในราวปี 2573  

ที่ผ่านมาอาเซียนรับมือกับปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศผ่านกลไก “ความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน” (ATHP) ซึ่งกำหนดแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในการเฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัย และการรับมือในสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งยังเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

เพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน อาเซียนจึงพยายามสร้างมาตรฐานการจำแนกกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยคณะกรรมการร่วมภาคการเงินของอาเซียน (ASEAN Taxonomy Board) ได้ผลักดันร่าง “มาตรฐานการจัดหมวดหมู่ด้านการเงินที่ยั่งยืนของอาเซียน” (ASEAN Taxonomy for Sustainable Finance – Version 1) มีเป้าหมายในการสร้างมาตรฐานให้ประเทศสมาชิกซึ่งมีระบบเศรษฐกิจและการเงินที่แตกต่างกันสามารถนำไปปรับปรุงกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมภายในประเทศได้

และกำหนดความตกลงร่วมกันในการลดต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปกป้องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ และการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งในภาคการเงินและผู้ประกอบการสามารถนำไปเป็นกรอบการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

ASEAN Taxonomy กำหนดเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมให้การดำเนินธุรกิจต้องหลีกเลี่ยงหรือลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการจำแนกกลุ่มตามมาตรฐานอุตสาหกรรมสากล (International Standard Industrial Classification: ISIC) ออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green) กลุ่มที่อยู่ระหว่างการปรับตัว (Amber) และกลุ่มที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Red) เพื่อประเมินความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและนำไปสู่การกำหนดมาตรการลดผลกระทบ

วิกฤต PM 2.5 ในอาเซียนมิอาจแก้ไขได้ด้วยมาตรการเชิงรับเพียงอย่างเดียว แต่สมาชิกอาเซียนต้องมีเจตจำนงอย่างแรงกล้าร่วมกันในการกำหนดมาตรการเชิงรุกด้วยการยกระดับมาตรฐานการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับภูมิภาคอื่นๆ ของโลก เพื่อรักษาสมดุลการเติบโตทางเศรษฐกิจ ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก และวางรากฐานคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในอาเซียนได้อย่างยั่งยืน

ผู้เขียน
กอปร์ธรรม นีละไพจิตร
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12311 วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566
หน้า 8 (ล่าง) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 1072 facebook twitter mail
Top