บทความวิชาการ
view 1436 facebook twitter mail

ESG อุตสาหกรรมสิ่งทอไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

เกี่ยวกับเอกสาร

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งต่อการนำรายได้เข้าประเทศและการจ้างงาน ในอดีตไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญของโลก แต่ปัจจุบันค่าจ้างแรงงานไทยสูงขึ้น  ส่งผลให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มได้ย้ายฐานการผลิตไปลงทุนตั้งโรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบด้วย กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา และสปป.ลาว

แม้โดยภาพรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยจะลดลง แต่ไทยได้ประโยชน์จากการส่งออกปัจจัยการผลิตให้แก่โรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อนำไปผลิตในขั้นปลายน้ำและส่งออกไปยังประเทศที่สาม ซึ่งได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น 

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีการผลิตแบบห่วงโซ่คุณค่าระดับภูมิภาคที่ทุกประเทศได้ประโยชน์ร่วมกัน ประเทศไทยได้ประโยชน์ในฐานะที่เคยมีประสบการณ์ด้านการผลิตและการค้าอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มกับเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าระดับโลกมาก่อน จึงใช้ความรู้และทักษะออกไปลงทุนโดยตรงในประเทศเพื่อนบ้าน โดยส่งออกปัจจัยการผลิตจากประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้อุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นแหล่งสร้างงานที่สำคัญให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และประเทศไทย ได้ประโยชน์ร่วมกัน

สภาวะโลกร้อนและวิกฤติสิ่งแวดล้อมกระตุ้นให้ต่างประเทศบังคับใช้มาตรการทางการค้า โดยเฉพาะมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTMs) เพื่อส่งเสริมการค้าที่ยั่งยืนทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม แรงงาน และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, and Governance: ESG) สหภาพยุโรปเป็นทั้งผู้นำเข้าเครื่องนุ่งห่มอันดับต้นในตลาดโลกและผู้นำด้านการส่งเสริมความยั่งยืนที่ได้บังคับใช้มาตรการทางการค้าในหลายอุตสาหกรรมรวมทั้งอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เพื่อตรวจสอบที่มาของสินค้า และควบคุมคุณภาพและการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น กฎระเบียบ กฎที่เกี่ยวกับการจัดทำฉลากผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม กฎความปลอดภัยของสินค้าโดยทั่วไป

ในอนาคต สหภาพยุโรปจะมีมาตรการใหม่เพิ่มเติม เช่น Corporate Sustainability Reporting Directive (CSRD) ซึ่งกำหนดให้บริษัทในสหภาพยุโรปต้องเปิดเผยข้อมูลการผลิตและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน และมาตรการ CBAM ซึ่งควบคุมการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง   มาตรการทางการค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้ผู้นำเข้าต้องคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ผู้ส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มต้องพัฒนาคุณภาพสินค้า ปรับกระบวนการผลิตให้มีความยั่งยืนมากขึ้น และรวบรวมข้อมูลการผลิตที่ต้องเปิดเผยตามกฎระเบียบในประเทศผู้นำเข้า

การปรับตัวของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเพื่อรองรับผลกระทบจากการใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องกับ ESG ของสหภาพยุโรปของผู้ประกอบการไทยจึงต้องร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพราะผู้ประกอบการไทยได้เข้าไปลงทุนตั้งโรงงานในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อผลิตและส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป ทั้งมิติของการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์

การให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคแก่หน่วยงานภาครัฐของประเทศเพื่อนบ้าน การกระตุ้นและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการของประเทศเพื่อนบ้านมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการที่สหภาพยุโรปนำมาบังคับใช้จะนำไปสู่การได้ประโยชน์ร่วมกันของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เพราะอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเชื่อมโยงกันเป็นห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาค

ผู้เขียน
วิมล ปั้นคง
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมการวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12321 วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 1436 facebook twitter mail
Top