บทความวิชาการ
view 184 facebook twitter mail

การเข้าถึงเงินทุนของ MSMEs อาเซียน

เกี่ยวกับเอกสาร

วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดเล็ก (MSMEs) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเป็นแหล่งรองรับการจ้างงาน อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงแหล่งเงินทุนถือเป็นความท้าทายสำคัญที่ MSMEs ต้องเผชิญ เนื่องจากความไม่เพียงพอของเงินทุนมักจะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตรวมถึงการพัฒนาธุรกิจ เพื่อสำรวจสถานการณ์ของ MSMEs จะใช้ข้อมูลจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ซึ่งมีการรวบรวมข้อมูลของ SMEs ไว้

จากข้อมูลของ ADB พบว่า MSMEs ในกลุ่มประเทศอาเซียนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยประเทศอย่างอินโดนีเซียและไทยมีจำนวน MSMEs ที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า MSMEs ในอินโดนีเซียมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปี 2010 ถึงปี 2020 โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากประมาณ 52 ล้านรายในปี 2010 เป็น 65 ล้านรายในปี 2019 ในขณะที่บางประเทศอย่างกัมพูชาและบรูไนดารุสซาลาม มีจำนวน MSMEs ที่น้อยกว่า แต่ยังคงเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจในประเทศนั้น ๆ การเพิ่มขึ้นของ MSMEs ในประเทศเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของธุรกิจขนาดเล็กที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น

ในประเด็นการเข้าถึงเงินทุนสามารถอธิบายอย่างง่ายโดยผ่าน 2 ช่องทาง คือ 1) ธนาคาร และ 2) แหล่งที่ไม่ใช่ธนาคาร (NBFIs) โดยในช่องทางผ่านธนาคารถือเป็นช่องทางสำคัญสำหรับ MSMEs ในอาเซียนแสดงให้เห็นว่าการเข้าถึงเงินทุนของ MSMEs ผ่านธนาคารในบางประเทศมีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น บรูไนดารุสซาลามที่มีมูลค่าการกู้ยืมจากธนาคารสูงขึ้นจาก 2.4 ล้านดอลลาร์ในปี 2018 เป็น 10.8 ล้านดอลลาร์ในปี 2022 ส่วนในอินโดนีเซียการเข้าถึงเงินทุนผ่านธนาคารยังคงเป็นหัวใจหลักของการดำเนินธุรกิจ โดยมีมูลค่าการกู้ยืมจากธนาคารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา การเติบโตของการให้สินเชื่อธนาคารนี้เป็นตัวบ่งชี้ถึงความสำเร็จของการพัฒนาระบบการเงินที่เอื้อต่อ MSMEsนอกจากธนาคารแล้ว การเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากแหล่งที่ไม่ใช่ธนาคาร เช่น สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร และตลาดทุนก็เป็นตัวเลือกที่ MSMEs ใช้ในการหาเงินทุนเพิ่มขึ้นเช่นกัน ประเทศอย่างกัมพูชาและอินโดนีเซียได้เห็นการเพิ่มขึ้นของการใช้บริการทางการเงินจาก

NBFIs ซึ่งสะท้อนถึงความหลากหลายของแหล่งเงินทุนที่ MSMEs สามารถเข้าถึงได้ ตัวอย่างเช่น ในกัมพูชามูลค่าการกู้ยืมจาก NBFIs เพิ่มขึ้นจาก 299 ล้านดอลลาร์ในปี 2009 เป็นมากกว่า 9,890 ล้านดอลลาร์ในปี 2022 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ไม่ใช่ธนาคารในประเทศนี้

ส่วนในไทยแนวโน้มการเข้าถึงเงินทุนจากธนาคารตั้งแต่ปี 2020 กลับลดลง ซึ่งสวนทางกับหลายประเทศในอาเซียน สาเหตุหลักมาจากข้อจำกัดของทุน การขาดประวัติทางการเงินที่เพียงพอ การขาดหลักประกัน และขนาดสินเชื่อที่เล็กเกินไปทำให้ไม่คุ้มทุนสำหรับธนาคาร แม้ว่าการเข้าถึงเงินทุนจาก NBFIs ในไทยจะไม่มีข้อมูลในฐานข้อมูลของธนาคารพัฒนาเอเชีย แต่ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยชี้ให้เห็นถึงความท้าทายที่ MSMEs ในประเทศไทยต้องเผชิญซึ่งสะท้อนถึงความจำเป็นในการพัฒนาระบบการเงินและนโยบายที่สามารถช่วยส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก

อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ MSMEs ในอาเซียนมีแนวโน้มที่บ่งบอกถึงการเพิ่มขึ้นของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั้งผ่านธนาคารและแหล่งที่ไม่ใช่ธนาคาร ปัจจัยที่ส่งผลต่อแนวโน้มนี้รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค การปรับตัวของภาคธุรกิจต่อสภาวะเศรษฐกิจโลก และนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีความหลากหลายมากขึ้นจะช่วยให้ MSMEs มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการบริหารจัดการธุรกิจและเพิ่มโอกาสในการเติบโตต่อไปในอนาคต

ผู้เขียน
ณัฐจารีย์ เพ็ชรร่วง
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12711 วันพุธที่ 21 สิงหาคม 2567
หน้า 8 (ล่าง) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 184 facebook twitter mail
Top