บทความวิชาการ
view 3620 facebook twitter mail

กฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กับ ASEAN e-commerce

เกี่ยวกับเอกสาร

การซื้อขายสินค้าหรือบริการผ่านทางออนไลน์ หรือ “พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” (e-commerce) เป็นการซื้อขายที่ผู้ซื้อและผู้ขายไม่ได้พบกัน การเลือกสินค้าหรือบริการและการชำระเงินไม่ได้กระทำซึ่งหน้า ทำให้ในการเติบโตของตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จำเป็นต้องพึ่งพาความเชื่อมั่นทั้งของผู้ซื้อและผู้ขายเป็นปัจจัยสำคัญ โดยกลไกสำคัญที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นนั้นคือกฎหมาย

กฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเติบโตของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มีหลายด้าน ทั้งกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ แต่กฎหมายที่เป็นฐานสำคัญในพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์คือกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

กฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นกฎหมายที่รับรองสถานะของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ยอมรับผลของนิติกรรม สัญญา ที่ทำผ่านทางออนไลน์เท่าเทียมกับนิติกรรมสัญญาในรูปของกระดาษ ซึ่งกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นฐานที่รองรับการซื้อขายผ่านทางออนไลน์

อาเซียนมีการขับเคลื่อนด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ควบคู่กับการขับเคลื่อนกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศสมาชิกมาอย่างยาวนานตั้งแต่กรอบความตกลงด้านอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน ในปี 2543 ที่เร่งรัดให้มีกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

AEC Blueprint กำหนดการดำเนินงานส่งเสริมการออกกฎหมายภายในประเทศด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ประสานโครงสร้างทางกฎหมายสำหรับสัญญาทางอิเล็กทรอนิกส์และการยอมรับลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ และความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อาเซียน ที่ประเทศสมาชิกตกลงจะคงไว้หรือใช้กฎหมายและกฎระเบียบในการกำกับดูแลธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์โดยเร็วที่สุด

ข้อมูลจาก UNCTAD ระบุว่า ทั่วโลกมีกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 158 ประเทศ หรือ 81% ของโลก โดยในประเทศเอเชีย-แปซิฟิก 60 ประเทศ มีกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว 50 ประเทศหรือ 83%

ขณะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศต่างมีกฎหมายที่รับรองความมีผลของข้อมูล นิติกรรมหรือสัญญาทางอิเล็กทรอนิกส์ใช้บังคับแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีชื่อว่ากฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หรือไม่ก็ตาม

บทบาทของกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ช่วยสร้างความเชื่อมั่นว่าการซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ที่ทำขึ้นนั้นสมบูรณ์และมีผลบังคับเท่ากับการซื้อขายทางหน้าร้านทั่วไป ผู้ซื้อผู้ขายมีสิทธิหน้าที่ต่อกันตามกฎหมาย ซึ่งกฎหมายนี้เป็นส่วนช่วยให้ตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศสมาชิกมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

รูปแบบการซื้อขายผ่านทางออนไลน์นี้ก็เป็นตัวผลักดันให้ภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามากำกับดูแลและปรับตัวให้ทันต่อยุคสมัย บัญญัติกฎหมายเพื่อรองรับและกำกับดูแล ซึ่งเทคโนโลยีและรูปแบบการค้านี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ปัญหาและประเด็นต่าง ๆ เกิดใหม่ตามมาตลอด รัฐจึงมีการทบทวนกฎหมายหรือออกกฎหมายลูกเพื่อเร่งตามให้ทัน

กฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ช่วยสร้างความกล้าในการซื้อขายทางออนไลน์จากผลของสัญญาที่เกิดขึ้นว่ามีการรองรับตามกฎหมาย แม้ว่ากฎหมายของแต่ละประเทศจะมีรายละเอียดแตกต่างกัน แต่การรับรองข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ยังคงเป็นหัวใจสำคัญที่สร้างความเชื่อมั่นต่อพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งในประเทศและข้ามแดน โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน

ผู้เขียน
ภัชชา ธำรงอาจริยกุล
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12336 วันพุธที่ 15 มีนาคม 2566
หน้า 8 (ล่าง) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 3620 facebook twitter mail
Top