บทความวิชาการ
view 919 facebook twitter mail

PCA ‘ไทย-อียู’ ยกระดับมาตรฐานการค้า

เกี่ยวกับเอกสาร

ระหว่างการประชุมสุดยอด ASEAN-EU เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 รัฐบาลไทยได้ลงนามในกรอบความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (Partnership and Cooperation Agreement) หรือ PCA ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (EU) หลังจาก EU ได้ลงนามกับประเทศในอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม สะท้อนให้เห็นว่า EU ให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะจุดยุทธศาสตร์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของอินโด-แปซิฟิก

EU เป็นกลุ่มประเทศที่มีพัฒนาการด้านหลักการ มาตรฐาน และยึดมั่นในกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง EU จึงเปิดการเจรจา PCA แบบทวิภาคีกับหลาย ๆ ประเทศ มีเป้าหมายเพื่อกำหนดค่านิยมร่วม (Shared Values) ให้ประเทศคู่เจรจาได้มีหลักการและค่านิยมพื้นฐานที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน PCA จึงมีสาระสำคัญในภาพกว้างที่ครอบคลุมทั้งมิติการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เช่น หลักการประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล สิทธิมนุษยชน และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

แม้ความตกลง PCA ไม่ได้มีผลเชิงกฎหมายระหว่างประเทศหรือมีผลต่อการแทรกแซงอธิปไตยของประเทศคู่เจรจา แต่ PCA ถือเป็นกระบวนการสำคัญในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจของ EU ที่มีต่อประเทศคู่เจรจาอันเป็นบันไดสู่การยกระดับความร่วมมือที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น การลงนามความตกลง PCA จึงเปรียบเสมือนอิฐก้อนสำคัญในการวางรากฐานสู่ความสำเร็จในการเจรจาการค้าเสรี หรือ “FTA ไทย-อียู”

ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา EU ขับเคลื่อนประเด็นมาตรฐานและความยั่งยืนอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสิ่งแวดล้อม ดังปรากฏการที่ EU ในฐานะประเทศผู้นำเข้าสินค้าประมงรายใหญ่ของโลกหันมาเข้มงวดกับการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) หรือการประกาศแผนการปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal) ซึ่งตามมาด้วยการปรับราคาคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) เป็นต้น

ปี 2565  ประเทศไทยมีมูลค่าการค้ากับ EU อยู่ที่ 2.1 ล้านล้านบาท ครองสัดส่วนถึง 10.31% ของมูลการค้ากับต่างประเทศของไทย แม้จะมีมูลค่าการค้าที่รองจากจีนและสหรัฐฯ แต่ EU ก็เป็นคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทย โดยปีที่ผ่านมากลุ่มสินค้าที่ไทยส่งออกไปยัง EU มีมูลค่าสูงอันดับต้น ๆ ได้แก่ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศ รถจักรยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง และไก่แปรรูป

อย่างไรก็ตาม หากการเจรจา FTA สำเร็จเป็นที่คาดหวังว่าจะก่อให้เกิดการลดอุปสรรคทางการค้า มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี และสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อันนำไปสู่การยกระดับมูลค่าการค้าต่างประเทศของไทย

ประเด็นค่านิยมร่วมที่ปรากฏในความตกลง PCA แม้จะเป็นที่ถกเถียงถึงการรักษาดุลแห่งอำนาจ (Balance of Power) และความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN Centrality) ในการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาค แต่ด้วยบริบทสถานการณ์โลกในยุคปัจจุบัน มิอาจปฏิเสธได้ว่าการเคารพในหลักการ ค่านิยมสากล และการปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศทั้งมิติการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นเงื่อนไขสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผู้เขียน
กอปร์ธรรม นีละไพจิตร
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12341 วันพุธที่ 22 มีนาคม 2566
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 919 facebook twitter mail
Top