บทความวิชาการ
view 531 facebook twitter mail

‘อาเซียน’ กับความท้าทาย นโยบาย SME สีเขียว

เกี่ยวกับเอกสาร

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกให้คำมั่นสัญญาที่จะลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว รูปแบบเศรษฐกิจจำเป็นต้องปรับตัวโดยคำนึงถึงการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ธุรกิจแต่ละประเภทเผชิญความท้าทายในการปรับตัวแตกต่างกันไป SME ซึ่งเป็นวิสาหกิจขนาดเล็ก อาจมีข้อจำกัดมากที่สุดในการปรับตัว นโยบายของหน่วยงานรัฐจึงมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือให้ SME ปรับตัวได้ง่าย

รายงาน Facilitating the Green Transition for ASEAN SMEs ในปี 2021 โดย OECD และสำนักเลขาธิการอาเซียน ระบุว่า ความท้าทายของ SME ในการปรับตัวให้สอดรับกับสิ่งแวดล้อมมี 4 ประการคือ 1) การเข้าถึงข้อมูลแนวทางการปรับตัวอย่างยั่งยืน และข้อดีข้อเสียของแนวทางต่าง ๆ 2) ข้อจำกัดด้านการปรับตัวให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเกี่ยวกับลักษณะสินค้าและบริการ 3) การเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมซึ่งจะคุ้มทุนต่อเมื่อมีการดำเนินงานในระยะยาว 4) การเข้าถึงสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน

หากพิจารณาระดับนโยบาย  ASEAN SME Policy Index ในปี 2018 โดย OECD และ ERIA ได้จัดกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนจำแนกตามลักษณะนโยบายที่ส่งเสริม SME สีเขียว แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 นโยบายในระดับเริ่มต้น ประกอบด้วยประเทศกัมพูชา เมียนมา บรูไน และสปป.ลาว กลุ่มประเทศนี้มีการส่งเสริมให้ SME ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม แต่หน่วยงานรัฐที่สนับสนุน SME และหน่วยงานรัฐที่ส่งเสริมเรื่องสิ่งแวดล้อมยังไม่ได้ทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ในภาพรวม ธุรกิจ SME ยังไม่มีความตระหนักรู้เรื่องความสำคัญของการปรับตัวนี้เท่าที่ควร

กลุ่มที่ 2 นโยบายระดับกลาง ประกอบด้วยประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย กลุ่มประเทศนี้มีนโยบายและกระบวนการสนับสนุนให้ SME สอดรับกับสิ่งแวดล้อม แต่ยังขาดกระบวนการประเมินผลลัพธ์ต่าง ๆ และหน่วยงานรัฐยังควรส่งเสริมความตระหนักรู้เรื่องการปรับตัวอย่างยั่งยืนให้ SME ต่อไป

กลุ่มที่ 3 นโยบายระดับดี ประกอบด้วย ประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ กลุ่มประเทศนี้สนับสนุนให้ SME ปรับตัวต่อวิกฤตสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง แต่ SME ยังเข้าถึงสินเชื่อ/สิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้ยากกว่าบริษัทใหญ่ นอกจากนี้หน่วยงานรัฐที่สนับสนุน SME และหน่วยงานที่สนับสนุนประเด็นสิ่งแวดล้อมมีการดำเนินงานร่วมกันบางส่วน หน่วยงานสองประเภทนี้ยังควรพัฒนาความร่วมมือร่วมกันต่อไป

เพื่อส่งเสริม SME สีเขียวในภูมิภาคอาเซียน OECD และ ERIA ได้เสนอให้ หน่วยงานรัฐควรปรับรูปแบบการสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมและเผยแพร่ข้อมูลเชิงลึกเรื่องแนวทางการปรับตัวต่าง ๆ กำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริม SME สีเขียวโดยเฉพาะ กำหนดหน่วยงานรับผิดชอบในประเด็นนี้ที่ชัดเจน และกำหนดระบบประเมินผลลัพธ์ของนโยบายที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ

            วิกฤตสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และส่งผลสำคัญต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจในอนาคต SME ซึ่งมีจำนวนประมาณ 90% ของจำนวนวิสาหกิจทั้งหมดในภูมิภาคควรได้รับการสนับสนุนให้ปรับตัวได้ง่าย เพื่อมีโอกาสในการเติบโตในระยะยาว

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 531 facebook twitter mail
Top