บทความวิชาการ
view 673 facebook twitter mail

บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตสู่ดิจิทัล ‘อาเซียน’

เกี่ยวกับเอกสาร

อินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งจำเป็นในการติดต่อสื่อสาร การประกอบธุรกิจ การส่งข้อมูล การเงิน รวมถึงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การเพิ่มการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรจึงเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ใช้วัดความพร้อมด้านเทคโนโลยีหรือเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศนั้น ๆ

บรอดแบนด์ (Broadband) หรือเทคโนโลยีที่ช่วยในการส่งผ่านข้อมูลอย่างรวดเร็วผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นส่วนสำคัญช่วยขับเคลื่อนความเชื่อมโยงด้านข้อมูลและการใช้งานอินเทอร์เน็ตให้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เห็นถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงติดต่อกัน

อาเซียนเล็งเห็นว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมเป็นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนสู่ดิจิทัล ตามแผนแม่บทด้านดิจิทัลของอาเซียน (ASEAN Digital Masterplan 2025) จึงมีประเด็นที่มุ่งผลลัพธ์ในการเพิ่มคุณภาพและความครอบคลุมของโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์ประจำที่และเคลื่อนที่ในอาเซียนด้วย

สอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย 2568 (Target 2025) ของ UN Broadband Commission for Sustainable Development เพื่อสนับสนุนการเชื่อมต่อบรอดแบนด์ โดยพยายามขยายโครงสร้างบรอดแบนด์ รวมถึงการเข้าถึงและการใช้อินเทอร์เน็ตของประชากรทั่วโลกเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยหนึ่งในเป้าหมายสำคัญคือ การทำให้บรอดแบนด์ราคาไม่แพง หรือน้อยกว่า 2% GNI ซึ่งความพยายามในการลดราคาบรอดแบนด์และการลดการผูกขาดผู้ให้บริการบรอดแบนด์จะส่งผลอย่างเป็นรูปธรรมในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรอย่างยิ่ง

ข้อมูลจาก ITU ระบุว่า ในปี 2565 ราคาข้อมูลบรอดแบนด์เคลื่อนที่ Data-only mobile broadband (2GB) เฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 1.5% GNI ส่วนเอเชีย-แปซิฟิกอยู่ที่ 1.4% GNI ส่วนราคาบรอดแบนด์ประจำที่ Fixed broadband (5GB) เฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 3.2% และเอเชีย-แปซิฟิกอยู่ที่ 3.2% ซึ่งเกินกว่าเป้าหมาย

สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนมีเพียงกัมพูชาและสปป.ลาว ที่ราคาบรอดแบนด์เคลื่อนที่เกิน 2% GNI แต่ในส่วนบรอดแบนด์ประจำที่กลับมีเพียงบรูไนและสิงคโปร์เท่านั้น ที่ราคาต่ำกว่า 2% GNI

ราคาบรอดแบนด์ที่สูงอาจเนื่องมาจากการผูกขาดในตลาดผู้ให้บริการบรอดแบนด์ จึงจำเป็นต้องมีการเพิ่มการแข่งขันในตลาดเพื่อให้ราคาบรอดแบนด์มีการปรับตัวตามการแข่งขันและกลไกตลาด ประเทศสมาชิกอาเซียนมีการลงทะเบียนใช้งานบรอดแบนด์เคลื่อนที่มากกว่าบรอดแบนด์ประจำที่มาก ซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันให้มีการแข่งขันของผู้ให้บริการและทำให้ราคาบรอดแบนด์ต่ำลง เช่นเดียวกับเมื่อราคาบรอดแบนด์ต่ำลง ก็มีผู้ใช้งานบรอดแบนด์เคลื่อนที่มากขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้การเพิ่มความครอบคลุมของบรอดแบนด์ในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะชนบท จะช่วยส่งเสริมกิจกรรมทางดิจิทัลและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กระจายรายได้และเพิ่มการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัลของประชาชนอย่างทั่วถึง

การส่งเสริมการเข้าถึงบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในอาเซียน ทั้งความครอบคลุมและราคาของบรอดแบนด์จะช่วยให้เกิดการพัฒนาทั้งด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคมในประชาคมอาเซียนอย่างทั่วถึงและพัฒนาความพร้อมในการก้าวไปแข่งขันกับประชาคมโลกได้

ผู้เขียน
ภัชชา ธำรงอาจริยกุล
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12366 วันพุธที่ 26 เมษายน 2566
หน้า 8 (ล่าง) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 673 facebook twitter mail
Top