บทความวิชาการ
view 427 facebook twitter mail

บูรณาการดิจิทัล ‘อาเซียน’

เกี่ยวกับเอกสาร

รายงาน e-Conomy SEA ของ Google, Temasek, Bain & Co. ระบุว่า ปี 2565 อาเซียนมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตราว 460 ล้านคน ซึ่งกว่า 370 ล้านคนเป็นผู้บริโภคดิจิทัลที่ซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์  สอดคล้องกับปริมาณการใช้บริการภาคการเงินผ่านช่องทางออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้นหลังการระบาดของโควิด-19 เช่น การชำระเงิน การโอนเงิน การลงทุน การปล่อยสินเชื่อ และการประกันภัย  คาดการณ์ว่าปี 2565 การค้าผ่านระบบ e-Commerce สร้างรายได้ให้กับอาเซียนสูงถึงกว่า 130,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากสถิติจำนวนประชากรดิจิทัลและการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนที่มีแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อาเซียนต้องตระหนักถึงความสำคัญของประเด็นการบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียนเพื่อให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างเท่าทัน

 การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AMM Retreat 2023) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566  ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงการขับเคลื่อนอาเซียนให้เป็นศูนย์กลางของการบูรณาการทางเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างครอบคลุม รวมถึงการตระหนักถึงความสำคัญของการชำระเงินดิจิทัล (Digital Payment) และทักษะด้านดิจิทัล (Digital Literacy) เพื่อยกระดับการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินอาเซียน รวมทั้งเพื่อเป็นฐานสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียน

นอกจากนี้ เมื่อปี 2564 อาเซียนได้ประกาศแผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล (ASEAN Digital Masterplan 2025 หรือ ADM) มีเป้าหมายให้ “อาเซียนเป็นผู้นำชุมชนดิจิทัลและกลุ่มเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ ปลอดภัย และเปลี่ยนผ่านการบริการ เทคโนโลยี และระบบนิเวศสู่ดิจิทัล” ตั้งเป้าผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงานตามแผนแม่บท 8 เป้าหมาย ได้แก่

1) การเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจอาเซียนจากการระบาดของโควิด-19  2) การยกระดับคุณภาพและความครอบคลุมของโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์  3) การสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคบริการดิจิทัลและการคุ้มครองผู้บริโภค  4) การสร้างตลาดที่แข่งขันได้อย่างยั่งยืนในการให้บริการทางดิจิทัล  5) การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ (e-government)

6) การพัฒนาการให้บริการดิจิทัลเพื่อเชื่อมโยงระหว่างภาคธุรกิจกับการอำนวยความสะดวกด้านการค้าข้ามแดน  7) การเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและประชาชนให้มีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัล  8) การสร้างสังคมดิจิทัลทั่วทั้งอาเซียน เพื่อปลดล็อกการใช้ประโยชน์จากการบริการดิจิทัลให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการรายเล็กและรายย่อย (MSMEs) สามารถใช้ประโยชน์ได้

แผนแม่บท AMD สะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาด้านดิจิทัลมิได้จำกัดเพียงเป้าประสงค์การอำนวยความสะดวกทางการค้าเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงการยกระดับระบบนิเวศสู่การเป็นดิจิทัลทั้งระบบ  อย่างไรก็ตามจากรายงาน ASEAN Digital Integration Index 2021 ได้ประเมินว่า การบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียนยังคงเผชิญข้อท้าทายสำคัญคือ ความแตกต่างของระดับการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งมีทั้งกลุ่มประเทศที่มีค่าดัชนีความพร้อมในมิติต่าง ๆ ในระดับสูง กลุ่มที่มีค่าดัชนีระดับกลาง และกลุ่มประเทศที่มีดัชนีต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

การก้าวข้ามข้อจำกัดเหล่านี้จึงเป็นโจทย์สำคัญของอาเซียนในบูรณาการด้านเศรษฐกิจดิจิทัลภายใต้ระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยให้ประเทศสมาชิกมีขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับที่ใกล้เคียงกันได้ในโลกสมัยใหม่ซึ่งผันแปรและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ผู้เขียน
กอปร์ธรรม นีละไพจิตร
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12371 วันพุธที่ 3 พฤษภาคม 2566
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 427 facebook twitter mail
Top