บทความวิชาการ
view 463 facebook twitter mail

โอกาส ‘เซมิคอนดักเตอร์’ เวียดนาม

เกี่ยวกับเอกสาร

เซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) คือ สารกึ่งตัวนำมีคุณสมบัติในการนำไฟฟ้าและเป็นฉนวนได้ในเวลาเดียวกัน จึงมีความเหมาะสมสำหรับนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ชิป แผงวงจร ซึ่งถูกใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ รถยนต์ เป็นต้น

            ไต้หวันเป็นประเทศที่มีบทบาทที่สำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก โดยชิปคุณภาพระดับสูงผลิตที่ไต้หวันมากกว่า 84% ของโลก  ไต้หวันมีความสามารถด้านการผลิตได้ครบทั้งห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ทั้งการออกแบบ Integrated Circuits (IC) ที่ต้นน้ำ การผลิต IC และการผลิตแผ่นเวเฟอร์ที่กลางน้ำ การประกอบและทดสอบ IC ในปลายน้ำ

            รายงานของ Vietnam Briefing (2023) กล่าวว่า การพึ่งพาชิปจากไต้หวันในระดับที่สูงมาก สร้างความกังวลเกี่ยวกับการกระจุกตัวของตลาดนำเข้ามากเกินไป รวมถึงเกิดความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมได้ในอนาคต ผู้เชี่ยวชาญจากภาคอุตสาหกรรมจึงเสนอให้เวียดนามเป็นหนึ่งทางเลือกในโครงการผลิตชิปในอนาคต ด้วยเหตุผลสนับสนุนดังต่อไปนี้

            (1) เวียดนามมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อย่างต่อเนื่อง ทั้งถนน ท่าเรือ และสนามบิน 

            (2) นโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เช่น ธุรกิจที่ลงทุนในภาคส่วนนี้สามารถได้รับการยกเว้นจากค่าเช่าที่ดิน หรือส่วนลดสูงถึง 50%

            (3) แรงงานและทักษะแรงงาน เวียดนามมีข้อได้เปรียบจากค่าแรงถูกกว่าไต้หวัน และรัฐบาลเวียดนามได้ลงทุนจัดตั้งศูนย์วิจัย เพื่อฝึกอบรมทักษะแรงงานเพื่อดึงดูดผู้ผลิตชิปรายใหญ่

            (4) กองทุนต่าง ๆ ที่รัฐบาลเวียดนามได้จัดตั้ง เช่น กองทุนนวัตกรรมเทคโนโลยีแห่งชาติ (NATIF) ศูนย์บ่มเพาะไอทีเวียดนาม-เกาหลี (VKII)

            (5) ที่ตั้งเวียดนามสะดวกต่อการเข้าถึงห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำของโลก ทั้งจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เมื่อเปรียบเทียบกับไต้หวันที่เป็นประเทศเกาะซึ่งอาจต้องจัดการขนส่งที่มีราคาแพงเพื่อเข้าถึงชิป

            (6) ด้านวัตถุดิบ แม้ในการผลิตชิปเวียดนามยังคงพึ่งพิงการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ และมีเพียงองค์กรภายในประเทศสองแห่งเท่านั้นที่มีส่วนในการออกแบบชิป ขณะที่การออกแบบ IC จะเป็นองค์กรต่างประเทศ แต่เวียดนามยังมีแหล่งแร่หายากซึ่งเป็นหนึ่งในข้อได้เปรียบสำคัญในการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน

            การเตรียมความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางของห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของเวียดนาม แม้ยังอยู่ในช่วงพัฒนาลงทุนและยังต้องเผชิญความท้าทายอีกหลายประการ แต่ก็จะเห็นได้ถึงโอกาสในการเติบโตได้ในอนาคต จึงทำให้เวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสำหรับนักลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจให้ความสำคัญอย่างมาก

ผู้เขียน
ณัฐจารีย์ เพ็ชรร่วง
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12386 วันพุธที่ 24 พฤษภาคม 2566
หน้า 8 (ล่าง) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 463 facebook twitter mail
Top