เกี่ยวกับเอกสาร
เวียดนามเป็นประเทศที่มีความได้เปรียบด้านเศรษฐกิจทางทะเล เพราะมีชายฝั่งทะเลยาวกว่า 3,000 กิโลเมตร มีปากอ่าวและอ่าวน้ำลึกประมาณ 150 แห่ง และยังมีความได้เปรียบด้านตำแหน่งที่ตั้งซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมโยงเส้นทางการขนส่งระดับภูมิภาค ส่งผลให้เวียดนามมีศักยภาพสูงในการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเล หรือ เศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศโดยรวม ภายใต้ความท้าทายที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
การพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงินเป็นแนวคิดที่สอดรับกับการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 14 ชีวิตใต้ทะเล (Life Below Water) ธนาคารโลกอธิบายว่า เศรษฐกิจสีน้ำเงิน หมายถึง การใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานการพัฒนาคุณภาพชีวิตและรักษาไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเล
รายงานของ ERIA เรื่อง Development of the Blue Economy in Viet Nam (2023) ระบุว่า เวียดนามกำหนดเป้าหมายเป็นประเทศรายได้สูงภายในปี 2045 โดยให้ความสำคัญกับการขนส่งทางทะเล การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าชคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2050 ส่งผลให้เวียดนามมุ่งเป้าการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงินมากขึ้น โดยการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรทางทะแลและตรากฎหมายกำกับและควบคุมการใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเล
แผนจัดการทรัพยากรทางทะเลของเวียดนามมีสาระสำคัญ ได้แก่ (1) การจัดการน่านน้ำและชายฝั่งทะเล (2) การพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเล (3) การส่งเสริมวัฒนธรรมและสังคมที่เป็นมิตรกับมหาสมุทร (4) การพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีทางทะเล (5) การรับมือกับภาวะโลกร้อนและภัยพิบัติทางทะเล (6) การรักษาความมั่นคงและความร่วมมือระหว่างประเทศด้านทะเล ทั้งนี้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2021-2023 ได้ระบุถึงการการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงิน โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับภาคพลังงาน การประมง และการท่องเที่ยว
รายงาน UNDP คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสีน้ำเงินมีสัดส่วนประมาณ 47-48% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศทั้งหมดของเวียดนาม อุตสาหกรรมประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเติบโตอย่างรวดเร็ว ปริมาณอาหารทะเลที่ผลิตได้เพิ่มจาก 1.7 ล้านตันเมื่อปี 2010 เป็น 2.9 ล้านต้นในปี 2021 โดยจำนวนเรือประมงเพิ่มจาก 19,244 ลำเมื่อปี 2010 เป็น 35,099 ลำในปี 2021
ปริมาณน้ำมันและก๊าชที่ได้จากทะเลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2020 เวียดนามผลิตน้ำมันและก๊าชจากทะเลได้ 700 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำมันและก๊าชทั้งที่ผลิตได้และสำรองของเวียดนามสูงกว่าทุกประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เวียดนามมีศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังลม โดยนักลงทุนต่างชาติได้เข้าไปลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้านการขนส่งทางทะเล ปี 2019 การขนส่งสินค้าทางทะเลมีปริมาณรวม 493 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 23.2% ของการขนส่งทั้งหมด เวียดนามถือเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาท่าเรือในตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา
การพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงินของเวียดนามมีความท้าทายประการสำคัญ ได้แก่ (1) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน (2) เมืองชายฝั่งทะเลเวียดนามยังไม่มีเส้นทางขนส่งทางบกเชื่อมโยงระหว่างนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือ (3) สัดส่วนเศรษฐกิจสีน้ำเงินยังไม่สูงเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจทั้งหมด (4) สิ่งแวดล้อมทางทะเลของเวียดนามมีแนวโน้มเสื่อมโทรมลง (5) พื้นที่ชายฝั่งทะเลเวียดนามมีความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติสูง (6) สินค้าและบริการของเศรษฐกิจเวียดนามยังขาดความหลากหลาย
ในการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงินของเวียดนามยังต้องเร่งสร้างความตระหนักถึงความยั่งยืนให้แก่ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งสร้างพื้นที่เชิงอนุรักษ์ชายฝั่งทะเล การพัฒนาโครงสร้างเชิงสถาบันด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน การส่งเสริมสาขาเศรษฐกิจที่เจาะจงด้านความยั่งยืน รวมทั้งมุ่งเน้นเศรษฐกิจหมุนเวียน การพัฒนาศักยภาพด้านการคาดการณ์และการเตือนภัยทางทะเล และเร่งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจสีน้ำเงิน
ผู้เขียน
น้ำผึ้ง ทัศนัยพิทักษ์กุล
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12406 วันพุธที่ 21 มิถุนายน 2566
หน้า 8 (ล่าง) คอลัมน์ “Asean Insight”