บทความวิชาการ
view 678 facebook twitter mail

อาเซียนในสมรภูมิ ‘เซมิคอนดักเตอร์’

เกี่ยวกับเอกสาร

เซมิคอนดักเตอร์ หรือ สารกึ่งตัวนำ เป็นวัตถุดิบต้นน้ำในห่วงโซ่การผลิตอุตสาหกรรมอัจฉริยะและอุตสาหกรรมเป้าหมายในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลิต ชิป (Chip) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของทั้งคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ EV หุ่นยนต์ (Robotics) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เซมิคอนดักเตอร์เป็นตัวแปรสำคัญในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีของโลก

ปี 2565  ญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้ส่งออกเซมิคอนดักเตอร์มูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 1 ของโลก มูลค่ากว่า 30,929 ล้านดอลลาร์ อันดับที่ 2 สหรัฐฯ มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 26,821 ล้านดอลลาร์ อันดับที่ 3 เนเธอร์แลนด์ มูลค่า 21,367 ล้านดอลลาร์ อันดับที่ 4 สิงคโปร์ มูลค่า 21,235 ล้านดอลลาร์ และอันดับที่ 5 จีน มูลค่า 4,123 ล้านดอลลาร์

ปี 2565 จีนเป็นประเทศผู้นำเข้าเซมิคอนดักเตอร์ที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 1 ของโลก มูลค่า 34,721 ล้านดอลลาร์ อันดับที่ 2 สหรัฐฯ มูลค่า 11,836 ล้านดอลลาร์ อันดับที่ 3 สิงคโปร์ มูลค่า 10,886 ดอลลาร์ อันดับที่ 4 เนเธอร์แลนด์ มูลค่า 5,692 ล้านดอลลาร์ และอันดับที่ 5 ญี่ปุ่น มูลค่า 5,561 ล้านดอลลาร์ ทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างเป็นประเทศผู้นำเข้าฯ รายใหญ่ของโลก เพื่อขับเคลื่อนการผลิตเทคโนโลยีซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการก้าวเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี

วิกฤติการณ์เซมิคอนดักเตอร์เริ่มส่งสัญญาณขึ้นในปี 2565 หลังสหรัฐฯ เสนอแนวคิดการรวมเครือข่ายประเทศผู้ผลิตในนาม Chip 4 Alliances” ที่ประกอบด้วยสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน เพื่อป้องกันการรั่วไหลของเทคโนโลยีไปสู่ประเทศขั้วตรงข้าม เนื่องจากข้อกังวลถึงการนำเทคโนโลยีไปใช้ในทางการทหาร นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังผ่านร่างกฎหมาย CHIPS and Science Act (CSA) ด้วยการทุ่มงบประมาณกว่า 52,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ แก้ไขปัญหาหารขาดแคลนชิป และป้องกันการรุกตลาดของจีน

จีนประกาศมาตรการควบคุมการส่งออกแร่แกลเลียมและเจอร์เมเนียมซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2566 ต้องมีใบอนุญาตส่งออกจากกระทรวงพาณิชย์จีนด้วยเหตุผลเพื่อปกป้องผลประโยชน์และความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งมีรายงานว่าจีนเป็นประเทศผู้ผลิตแร่เจอร์เมเนียมกว่า 60% ของโลก และแร่แกลเลียมกว่า 80% ของโลก

อาเซียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก มีความจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์เพื่อต่อยอดในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ การประกอบรถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ในปี 2565 สินค้าส่งออกของประเทศไทยอันดับที่ 1 รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 981,468 ล้านบาท อันดับที่ 2 คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 715,703 ล้านบาท และอันดับที่ 5 แผงวงจรไฟฟ้า มูลค่า 323,774 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นกลไกขับเคลื่อนภาคการส่งออกของไทย  ประเทศไทยนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์จากจีนมากเป็นอันดับที่ 1 สูงถึง 54% ของ อันดับที่ 2 นำเข้าจากญี่ปุ่น 15.78% อันดับที่ 3 ไต้หวัน 6.82% ตามด้วยสิงคโปร์ 5.56% เวียดนาม 5.43% มาเลเซีย 4.29% เกาหลีใต้ 4.2% และสหรัฐฯ 1.43%

การขับเคี่ยวระหว่างมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีที่ไม่ได้มาในรูปแบบการปิดล้อมทางการทหาร แต่มารูปแบบของการเดิมพันด้วยปัจจัยการผลิตต้นน้ำและความอยู่รอดของภาคการส่งออก อาจส่งผลให้เซมิคอนดักเตอร์กลายเป็นชนวนสงครามการค้ารูปแบบใหม่ ที่มีราคาสูงขึ้นและขาดแคลน กระทบต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายและภาคการส่งออกของไทยและอาเซียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นวาระเร่งด่วนในการแสวงหาแนวทางรับมือกับสถานการณ์ที่อาจผันแปรได้ในอนาคตอันใกล้

ผู้เขียน
กอปร์ธรรม นีละไพจิตร
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12421 วันพุธที่ 12 กรกฎาคม 2566
หน้า 8 (ล่างซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 678 facebook twitter mail
Top