บทความวิชาการ
view 834 facebook twitter mail

การลงทุนโลก และ ‘อาเซียน’

เกี่ยวกับเอกสาร

ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนาหรือ อังค์ถัด (UNCTAD) ได้เปิดเผยรายงานการลงทุนโลกประจำปี 2566 (World Investment Report 2023) สาระสำคัญสรุปได้ว่า ปี 2565 การลงทุนโลกโดยรวมไม่สดใส ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากวิกฤติด้านสุขภาพ โรคระบาด ภาวะโลกร้อน และเศรษฐกิจที่ผันผวน ส่งผลให้นักลงทุนทั่วโลกเผชิญกับความไม่แน่นอน

ภาวะอัตราเงินเฟ้อสูงและความปั่นป่วนในตลาดการเงินส่งผลต่อเนื่องให้นักลงทุนชะลอการลงทุน โดยการลงทุนโดยตรงทั่วโลกสุทธิปี 2565 มีมูลค่ารวม 3.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 12% เมื่อเทียบกับปี 2564  อย่างไรก็ตามการลงทุนโดยตรงในประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นทั้งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรม

การลงทุนในปี 2565 ชี้ให้เห็นถึงความไม่เสมอภาคของการลงทุนระดับโลก การลงทุนส่วนใหญ่กระจุกตัวในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดใหญ่ ขณะที่การลงทุนโดยตรงในประเทศกำลังพัฒนาขนาดเล็กยังเผชิญกับภาวะชะลอตัว มูลค่าการลงทุนในประเทศพัฒนาแล้วลดลง 16% เมื่อพิจารณาการลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมพบว่า การลงทุนในสาขาเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้นโดดเด่น ส่วนสาขาที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเครื่องจักร  ส่วนการลงทุนสาขาเศรษฐกิจดิจิทัลลดลง

การลงทุนในภาคพลังงานทดแทนมีแนวโน้มคงที่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดการหวนกลับของการลงทุนในภาคพลังงานฟอสซิล เนื่องจากเกิดวิกฤติในภาคพลังงานที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทพลังงานสู่ภาคเอกชน  ปี 2565 การลงทุนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศกำลังพัฒนาปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยสาขาที่การลงทุนเพิ่มขึ้น ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน น้ำ สุขาภิบาล เกษตรแปรรูป สุขภาพ และการศึกษา 

เงินทุนไหลเข้าสู่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมูลค่ารวม 223 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปี 2564  สิงคโปร์เป็นประเทศรองรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากที่สุด โดยมีมูลค่ารวม 141 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8% คิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของมูลค่าการลงทุนไหลเข้าทั้งหมดในภูมิภาคอาเซียน   เงินทุนไหลเข้าเวียดนามมีมูลค่ารวม 18 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับปี 2564  เงินทุนไหลเข้าอินโดนีเซียมีมูลค่ารวม 22 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4%  ส่วนประเทศไทยมีมูลค่าเงินทุนไหลเข้ารวม 10 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากที่เคยมีมูลค่ารวม 14 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2564

รายงานฉบับนี้ชี้ถึงความกังวลเกี่ยวกับการลงทุนในภาคพลังงานทดแทนซึ่งยังมีอุปสรรคในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนการลงทุนที่อยู่ในระดับสูง โดยต้นทุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประเทศพัฒนาน้อยที่สุดสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วถึง 7 เท่า นอกจากนั้นระบบกฎหมายและการอำนวยความสะดวกในการลงทุนของประเทศพัฒนาน้อยที่สุดยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ดังนั้นเพื่อให้การลงทุนในภาคพลังงานทดแทนตอบสนองการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งประเทศในภูมิภาคอาเซียนควรให้ความสำคัญกับการลงทุนระยะยาว และการพัฒนาตลาดทุนสีเขียว

ผู้เขียน
วิมล ปั้นคง
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมการวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12426 วันพุธที่ 19 กรกฎาคม 2566
หน้า 8 (ล่างซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top