บทความวิชาการ
view 814 facebook twitter mail

ภูมิทัศน์ดิจิทัลอาเซียน

เกี่ยวกับเอกสาร

เทคโนโลยีดิจิทัลเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา  ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดคือเทคโนโลยีดิจิทัลได้แทรกตัวเข้าไปอยู่ในทุกส่วน ทุกมิติของชีวิตประจำวันและธุรกิจ จากเดิมดิจิทัลเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการเพียงแต่ต้องคำนึงถึงในการทำธุรกิจ  แต่ปัจจุบันดิจิทัลกลายเป็นเรื่องที่ขยับความสำคัญขึ้นมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ดัชนีสัดส่วนจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในแต่ละประเทศกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยชี้วัดสำคัญเพื่อวัดความพร้อมในด้านดิจิทัล โดยข้อมูลจาก World Bank ระบุว่า ในปี 2564 ทั่วโลกมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 63% เป็นสัดส่วนที่เกินครึ่งหนึ่ง และจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกปี อย่างไรก็ตามยังมีช่องว่างระหว่างประเทศพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ กับประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดอยู่อย่างมาก

 ในประเทศที่พัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนาบางประเทศมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสูงถึง 8 ใน 10 คน ขณะที่ในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดอาจมีประชากรไม่ถึง 1 ใน 10 ที่ใช้อินเทอร์เน็ต ไม่เพียงเท่านั้น ปัจจัยเรื่องของรายได้และเพศยังเป็นตัวแปรในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตด้วย

ขณะที่ในภูมิภาคอาเซียน ประเทศที่มีสัดส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสูงที่สุด ได้แก่ บรูไน 98% รองลงมาคือ มาเลเซีย 97% และสิงคโปร์ 91% แต่ในอีกด้านหนึ่ง อาเซียนก็มีถึง 5 ประเทศ ที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตน้อยกว่าค่าเฉลี่ยโลก ได้แก่ เมียนมา ฟิลิปปินส์ สปป.ลาว กัมพูชา และอินโดนีเซีย

เมื่อกล่าวถึงดิจิทัล สิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยคือข้อมูล  เนื่องจากข้อมูลเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจโดยเฉพาะในทางธุรกิจ ผู้ที่มีข้อมูลจำนวนมากและสามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อใช้ให้เป็นประโยชน์จะเป็นต่อในยุคดิจิทัลนี้ บริษัทเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ของโลกต่างลงทุนจำนวนมหาศาลกับธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานข้อมูลโลก (Global data value chain) ตั้งแต่การเก็บข้อมูล การส่งผ่านข้อมูล การรักษาข้อมูล การวิเคราะห์และประมวลข้อมูลด้วยวิธีต่าง ๆ

ในอาเซียน ผู้ที่มีช่องทางในการเข้าถึงผู้ใช้บริการจะเป็นผู้ถือข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งในอาเซียนมีหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ที่เป็นที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มซึ่งมีผู้ใช้จำนวนมาก รวมถึงมีการเก็บและใช้ข้อมูลของผู้ใช้ได้อย่างมหาศาล

อย่างไรก็ตาม ในอาเซียนยังมีข้อจำกัดด้านการส่งข้อมูลข้ามพรมแดนอยู่ทั้งกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความแตกต่างกันและบางประเทศที่บังคับจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลในประเทศ (Data localization) ที่สร้างข้อจำกัดการส่งข้อมูลข้ามประเทศ

อีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาด้านดิจิทัลอย่างมากคือบุคลากรและทักษะความเชี่ยวชาญ โดยในหลายประเทศยังมีความขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านดิจิทัลอย่างมากและยังไม่สามารถพัฒนาทักษะบุคลากรได้เพียงพอต่อความความต้องการ เช่น เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา ทำให้การพัฒนาดิจิทัลของประเทศยังล่าช้าและมีอุปสรรคอยู่มาก

ในปัจจุบันที่ทั่วโลกกำลังขับเคลื่อนเข้าสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบ แต่ปัจจัยต่าง ๆ ยังคงเป็นอุปสรรคที่แต่ละประเทศสามารถพัฒนาและใช้ประโยชน์จากดิจิทัลได้มากน้อยต่างกันไป ซึ่งทำให้เกิดช่องว่างด้านดิจิทัลระหว่างกันอย่างเห็นได้ชัดแม้แต่ในอาเซียนเอง ความท้าทายของการลดช่องว่างในระดับภูมิภาคจึงต้องอาศัยความร่วมมือและความช่วยเหลือสนับสนุนกันเพื่อให้อาเซียนใช้ประโยชน์จากดิจิทัลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ผู้เขียน
ภัชชา ธำรงอาจริยกุล
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12441 วันพุธที่ 9 สิงหาคม 2566
หน้า 8 (ล่าง) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 814 facebook twitter mail
Top