บทความวิชาการ
view 461 facebook twitter mail

กัมพูชา : การเปลี่ยนสู่ผู้นำใหม่

เกี่ยวกับเอกสาร

ชัยชนะการเลือกตั้งแบบ “แลนด์สไลด์” ของพรรคประชาชนกัมพูชา หรือ CPP เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา ภายใต้การนำของสมเด็จ ฮุน เซน ผู้ชนะการเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกัมพูชามายาวนานกว่า 38 ปี นับเป็นผู้นำที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อาเซียน (แซงหน้าซูฮาร์โต้อดีตผู้นำอินโดนีเซีย 32 ปี)

แต่ครั้งนี้สมเด็จฮุน เซน ประกาศเตรียมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมส่งไม้ต่อให้กับ ฮุน มาเนต บุตรชายวัย 45 ปี ดำรงตำแหน่งต่อไป เป็นที่จับตาจากทั่วโลกรวมถึงไทยและอาเซียนว่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อนโยบายเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศของกัมพูชาอย่างไร

การเลือกตั้งครั้งนี้ พรรค CPP นำเสนอนโยบายหลักในการหาเสียงคือการรักษาสันติภาพ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การสร้างเสถียรภาพและความมั่งคั่ง และการยกระดับประเทศให้ทันสมัย โดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคการเกษตรซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศด้วยการยกระดับจากเกษตรยังชีพมาสู่เกษตรเชิงพาณิชย์ที่ได้มาตรฐานยิ่งขึ้นภายใต้การสนับสนุนจากรัฐ

การให้สัมปทานที่ดินแก่ประชาชนรากหญ้า รวมถึงการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมและภาคการท่องเที่ยว พร้อมกับการปรับปรุงกฎระเบียบและโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ อันจะนำมาซึ่งการกระจายรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชาวกัมพูชา หรืออีกนัยหนึ่งคือการสานต่อแนวทางการบริหารงานของรัฐบาลจากพรรค CPP ที่ปกครองกัมพูชามายาวนาน

ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเศรษฐกิจกัมพูชาเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 กัมพูชาก็สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว ฐานข้อมูลสหประชาชาติรายงานว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของกัมพูชาช่วงปี 2560-2564 การส่งออกของกัมพูชาเติบโตขึ้นสูงถึง 14.5%

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ มากเป็นอันดับที่ 1 (25%) อันดับที่ 2 สหภาพยุโรป (16%) อันดับที่ 3 สิงคโปร์ (10%) และอันดับที่ 4 จีน (6%) โดยสินค้าหลักที่กัมพูชาส่งออก เช่น สิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า หมวก เครื่องหนัง ซึ่งสินค้ากลุ่มเครื่องแต่งกายคิดเป็น 40% ของการส่งออกทั้งหมด และผลผลิตการเกษตร เป็นต้น

ด้านการนำเข้าสินค้าขยายตัวเฉลี่ย 25.9% โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่ามากเป็นอันดับที่ 1 (33.8%) อันดับที่ 2 สิงคโปร์ (17.8%) อันดับที่ 3 ไทย (12.1%) และเวียดนาม (11%) ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเส้นใยสังเคราะห์ ปิโตรเลียม และน้ำมัน ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสิ่งทอซึ่งเป็นจุดแข็งของกัมพูชา

จากสัดส่วนการค้าสะท้อนให้เห็นว่ากัมพูชามีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ดีทั้งกับสหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป และประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ไทย และสิงคโปร์ แม้จะเป็นที่ถกเถียงว่ารัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของฮุน มาเนต จะนำพากัมพูชาไปในทิศทางเดิมหรือไม่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ากัมพูชาเป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญของอาเซียนทั้งในมิติการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศของอาเซียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งประเด็นการรักษาความเป็นแกนกลางระหว่างอาเซียนกับประเทศมหาอำนาจผ่านกรอบความร่วมมือ BRI และ IPEF หรือแม้แต่การเสริมสร้างสันติภาพและเสถียรภาพในเมียนมาและทะเลจีนใต้ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

ผู้เขียน
กอปร์ธรรม นีละไพจิตร
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12446 วันพุธที่ 16 สิงหาคม 2566
หน้า 8 (ล่าง) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 461 facebook twitter mail
Top