บทความวิชาการ
view 826 facebook twitter mail

‘มาตรการห้ามส่งออกข้าวอินเดีย’ ส่งผลกระทบต่ออาเซียน

เกี่ยวกับเอกสาร

มาตรการห้ามส่งออกข้าวของอินเดีย (ยกเว้นพันธุ์ Basmati) ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2566 ได้สร้างความตื่นตระหนกให้ตลาดโลกอีกครั้ง เนื่องจากอินเดียจำเป็นต้องควบคุมราคาข้าวและรักษาความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศจากภาวะราคาอาหารเฟ้อ (Food Inflation) ที่ปรับตัวขึ้นกว่า 11.51% หลังประสบอุทกภัยช่วงต้นเดือน ก.ค. ส่งผลให้ไร่นาได้รับความเสียหายไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตามฤดูกาล

ข้าวอินเดียสำคัญอย่างไรต่อตลาดโลก?  ปี 2565 อินเดียเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวมากเป็นอันดับ 1 ของโลกในปริมาณกว่า 22 ล้านตัน คิดเป็น 40% ของโลก จึงเป็นที่คาดการณ์ว่ามาตรการห้ามส่งออกข้าวครั้งนี้จะกระทบต่อปริมาณข้าวในตลาดโลกราว 10 ล้านตัน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของการส่งออกข้าวของอินเดียในปีที่ผ่านมา 

ประเทศผู้นำเข้าข้าวจากอินเดียมากเป็นอันดับต้น ๆ คือ ซาอุดีอาระเบีย รองลงมาคือบังกลาเทศ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เยเมน สหรัฐฯ คูเวต สหราชอาณาจักร แอฟริกาใต้ และสิงคโปร์ อินเดียจึงเป็นผู้เล่นสำคัญที่มีผลต่อการแปรผันของราคาข้าว ตลอดจนเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบเสริมสร้างการเติบโตให้กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (South-South) ซึ่งย่อมได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้

ทำไมอินเดียต้องห้ามส่งออกข้าว  ปี 2565 อินเดียมีประชากรประมาณ 1,373 ล้านคน คาดการณ์ว่าภายในปี 2570 อินเดียจะเป็นตลาดที่มีผู้บริโภคมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลกรองจากสหรัฐฯ และจีน ด้วยอัตราการเพิ่มของจำนวนประชากรที่รวดเร็ว  รัฐบาลอินเดียมีนโยบายเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับการกินดีอยู่ดีของประชาชนเป็นอันดับแรก

โดยกำหนดนโยบายควบคุมราคาสินค้าภายในประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าอุปโภค บริโภค ยา และเวชภัณฑ์ ประกอบกับพฤติกรรมการบริโภคของชาวอินเดียที่มีความนิยมสินค้าที่ผลิตภายในประเทศมากกว่าสินค้านำเข้า ยิ่งไปกว่านั้น ปี 2567 อินเดียจะมีการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งเป็นที่แน่ชัดว่าการขึ้นราคาสินค้าและค่าครองชีพในประเทศย่อมไม่เป็นผลดีต่อการเลือกตั้งที่จะมาถึง

ดังนั้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ผันแปรอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโจทย์สำคัญของอินเดียในการรักษาสมดุลระหว่างการส่งเสริมการส่งออกกับการรักษาความอยู่รอดของประชาชนชาวอินเดีย

ผลกระทบต่อตลาดโลก เดือน ส.ค. 2566  องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รายงานว่า ราคาข้าวสารในตลาดโลกสูงขึ้นจากเดือนก่อนราว 9.8% ซึ่งเป็นอัตราเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบ 15 ปี เนื่องจากการห้ามการส่งออกข้าวสายพันธุ์ Indica ของอินเดีย และประเมินว่าอินเดียอาจขยายมาตรการห้ามส่งออกข้าวสายพันธุ์อื่น ๆ ต่อไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานข้าวและเป็นปัจจัยเสี่ยงสู่การเกิดวิกฤติอาหารโลกได้ในระยะเวลาอันใกล้

ผลกระทบต่ออาเซียน อาเซียนเป็นประเทศคู่แข่งของอินเดียในการส่งออก รวมทั้งเป็นประเทศผู้พึ่งพิงการนำเข้าข้าวจากอินเดีย  ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากอินเดีย ขณะที่เวียดนามเป็นผู้ส่งออกอันดับ 3 ย่อมได้รับผลกระทบในแง่ของราคาในประเทศที่สูงขึ้นและการบริหารสินค้าคงคลังให้เพียงพอ  ขณะเดียวกันมาเลเซียและสิงคโปร์ที่นำเข้าข้าวจากอินเดียในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงจึงเป็นที่กังวลถึงการเกิดวิกฤติอาหารและค่าครองชีพที่สูงขึ้น

การห้ามส่งออกข้าวของอินเดียจึงเป็นสัญญาณเตือนอีกครั้งต่ออาเซียนถึงความเสี่ยงของการพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศภายนอกภูมิภาคในสัดส่วนสูง ท่ามกลางการเผชิญหน้ากับภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ ๆ จึงเป็นโจทย์สำคัญของอาเซียนในสร้างความมั่นคงทางอาหารและการกระชับห่วงโซ่คุณค่าระดับภูมิภาคร่วมกันเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

ผู้เขียน
กอปร์ธรรม นีละไพจิตร
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12471 วันพุธที่ 20 กันยายน 2566
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 826 facebook twitter mail
Top