บทความวิชาการ
view 807 facebook twitter mail

NIMP 2030 ความหวังครั้งใหม่ ‘มาเลเซีย’

เกี่ยวกับเอกสาร

มาเลเซียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่กำลังเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับอุปสงค์ต่อสินค้าทั่วโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงปัญหาเศรษฐกิจภายในของจีนซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่หนึ่งใน 5 อันดับแรกของมาเลเซีย ปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเลเซียไม่เติบโตเท่าที่ควร โดยในไตรมาส 2/66 เติบโตเพียง 2.9% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้รัฐบาลมาเลเซีย นำโดยนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ได้ประกาศแผนแม่บทด้านอุตสาหกรรมฉบับใหม่ ปี 2030 (New Industrial Master Plan 2030) โดยมีเป้าหมายในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศครั้งใหญ่ภายในปี 2030 ให้มีความสามารถในการผลิตในอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนสูง เพื่อให้ตอบโจทย์กับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป

ประเด็นที่น่าสนใจของแผนแม่บทฉบับนี้คือ นับว่าเป็นครั้งแรกที่เปลี่ยนรูปแบบของแผนฯ จาก sectoral-based approach ที่เน้นการปฏิรูปเป็นรายภาคอุตสาหกรรมเหมือนในแผนฯ ก่อนหน้านี้อย่าง IMP 3.0 มาเป็นรูปแบบ mission-based approach ที่เลือกเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับเป้าหมายของแผนแม่บทเป็นหลัก ซึ่งประกอบด้วยเป้าหมาย 4 ด้านดังนี้

(1) ส่งเสริมให้มีการพัฒนาและการผลิตสินค้าที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น (2) การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลทั่วทั้งประเทศ (3) ผลักดันให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และ (4) สร้างความแข็งแกร่งให้ระบบเศรษฐกิจรวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ การปฏิรูปครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นความพยายามของรัฐบาลมาเลเซียในการปรับปรุงระบบนิเวศทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่เพื่อให้เอื้อต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน และเพื่อให้มาเลเซียเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อห่วงโซ่คุณค่าโลก

ส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตหลักที่จะได้รับการสนับสนุนจากแผนแม่บทฉบับนี้ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ไฟฟ้า การบินและอวกาศ ยา และวัสดุชั้นสูง ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ การส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมนี้ยังกระตุ้นการจ้างงานและการพัฒนาแรงงานที่มีทักษะสูงภายในประเทศ พร้อมทั้งดึงดูดแรงงานทักษะสูงจากทั่วโลก

รัฐบาลมาเลเซียหวังว่าการปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมครั้งนี้จะส่งผลให้มาเลเซียมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 6.5% ต่อปีในช่วงปี 2022 – 2030 และดึงดูดการลงทุนทั้งจากภายในและต่างประเทศ การดำเนินงานตามแผนแม่บทดังกล่าวคาดว่าจะใช้งบประมาณกว่า 27.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตลอดช่วงเวลา 7 ปีตามแผนฯ

สำหรับโอกาสของไทย การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจมาพึ่งพิงภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ทักษะสูง ทำให้มาเลเซียมีแนวโน้มที่จะต้องการแรงงานทักษะสูงมากยิ่งขึ้น เป็นโอกาสให้ไทยและมาเลเซียได้แลกเปลี่ยนแรงงานทักษะสูงระหว่างกันเพื่อนำไปสู่การถ่ายทอดองค์ความรู้ในอุตสาหกรรมที่ทั้งสองประเทศต้องการส่งเสริม

นอกจากนี้ไทยและมาเลเซียยังสามารถขยายความร่วมมือแบบทวิภาคีผ่านการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของทั้งสองประเทศในอุตสาหกรรมที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ เช่น อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ไฟฟ้า และการบินและอวกาศ  อีกทั้งยังเป็นโอกาสสำคัญให้กับนักลงทุนไทยที่มีความสนใจและความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันมีนักลงทุนชาวไทยเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวบ้างแล้ว เช่น ปตท. SCG HomePro และ Energy Absolute

ผู้เขียน
ภูชิสส์ ภูมิผักแว่น
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12476 วันพุธที่ 27 กันยายน 2566
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Insight ASEAN”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top