บทความวิชาการ
view 561 facebook twitter mail

บทความเรื่อง กรอบการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนอาเซียน

เกี่ยวกับเอกสาร

หนึ่งในกลไกสำคัญที่ส่งผลให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ (FDI) สูงมากในช่วงปีที่ผ่านมา คือ การร่วมมือกันของประเทศสมาชิกอาเซียนในการดำเนินการตาม “กรอบการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนอาเซียน” (ASEAN Investment Facilitation Framework: AIFF) ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2021

รายงานการลงทุนอาเซียน ปี 2022 (ASEAN Investment Report 2022) ซึ่งจัดทำโดยสำนักเลขาธิการอาเซียนและอังค์ถัดที่เผยแพร่ในเดือนตุลาคม 2022 ได้กล่าวถึงกรอบการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนอาเซียน และอธิบายถึงความแตกต่างที่สำคัญระหว่างการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนและการส่งเสริมการลงทุนว่า การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนครอบคลุมนโยบายและมาตรการทั้งหมดที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้นักลงทุนจัดตั้ง ดำเนินการ และขยายการลงทุนในประเทศที่ต้องการไปลงทุนได้ง่ายขึ้น

โดยมีมาตรการและการดำเนินงานที่หลากหลาย เช่น การมีกฎเกณฑ์และข้อมูลด้านการลงทุนที่โปร่งใส สามารถเข้าถึงได้ การกำหนดขั้นตอนการบริหารและการดำเนินงานของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างมีประสิทธิภาพ การให้บริการประเภทต่าง ๆ แก่นักลงทุนโดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต การให้บริการด้านแพลตฟอร์มดิจิทัลแบบเบ็ดเสร็จและเป็นระบบเดียวกัน ทั้งในกระบวนการรับคำขอด้านการลงทุน การอนุมัติการต่ออายุ ฯลฯ รวมถึงการดูแลหลังการลงทุน (aftercare service) การบริการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ผู้ลงทุน การอำนวยความสะดวกด้านการเข้าเมืองและการพำนักอยู่เป็นการชั่วคราวของนักธุรกิจเพื่อวัตถุประสงค์ในการลงทุน เป็นต้น

รายงานฉบับดังกล่าวยังประเมินความคืบหน้าล่าสุดในการดำเนินงานตามกรอบ AIFF ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถดำเนินการได้ก้าวหน้าเป็นอย่างมาก แต่ก็ยังมีระดับความคืบหน้าที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะการปรับปรุงการให้บริการเป็นแบบดิจิทัล ซึ่งบางประเทศยังใช้การออกเอกสารที่เป็นกระดาษ เช่น กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และยังต้องปรับปรุงการอำนวยความสะดวกในปัจจัยสนับสนุนด้านการลงทุน เช่น บางประเทศยังมีข้อมูลด้านการลงทุนที่ไม่เป็นภาษาอังกฤษ รวมถึงยังไม่มีการให้บริการด้านการดูแลหลังการลงทุนและการให้บริการช่วยเหลือนักลงทุนในการจับคู่ทางธุรกิจ

อย่างไรก็ตามด้วยกรอบ AIFF เป็นกรอบการดำเนินงานโดยสมัครใจของประเทศสมาชิก ไม่ได้เป็นข้อผูกพันให้ต้องปฏิบัติ และไม่มีกรอบระยะเวลากำหนด จึงเป็นความท้าทายที่สำคัญในการบรรลุเป้าหมายดำเนินงานให้ได้ในทุกมาตรการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน

ดังนั้นเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจประเทศให้เอื้อต่อการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รายงานฉบับนี้เสนอแนะให้ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องดำเนินงานปรับปรุงขั้นตอนการบริหารให้คล่องตัวมากขึ้น พัฒนาคุณภาพการบริการอำนวยความสะดวกในการลงทุน ทั้งการมีระบบแนะนำเพื่อเข้าถึงข้อมูลการลงทุน เร่งการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลระบบเดียวกัน รวมทั้งเสริมสร้างกลไกการให้คำปรึกษาหารือด้านการลงทุนระหว่างภาครัฐ-เอกชน และการจับคู่เครือข่ายธุรกิจและการมีฐานข้อมูล ผ่านมาตรการนโยบาย การสนับสนุน และโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการลงทุน เป็นต้น

การสร้างบรรยากาศการลงทุนโดยการอำนวยความสะดวกตามกรอบ AIFF นั้น สนับสนุนให้ประเทศสมาชิกอาเซียนปรับตัวและมีศักยภาพรองรับการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกภายหลังวิกฤติการระบาดของโควิด-19 และเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน

ผู้เขียน
น้ำผึ้ง ทัศนัยพิทักษ์กุล
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12246 วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน 2565
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Insight ASEAN”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 561 facebook twitter mail
Top