บทความวิชาการ
view 340 facebook twitter mail

เชื่อม ‘อาเซียน’ ฝ่าวิกฤตสินค้าแพง

เกี่ยวกับเอกสาร

เชื่อม ‘อาเซียน’ ฝ่าวิกฤตสินค้าแพง

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาเซียนหลังการระบาดของโควิด-19 ต้องชะลอลงจากวิกฤตการณ์รัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อไปทั่วโลก โดยภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักคือภาคเกษตรกรรมและอาหาร ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและค่าครองชีพของประชาชนในอาเซียนสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ละประเทศมีแนวทางรับมือที่แตกต่างกัน และอาเซียนจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้อย่างไร

ธนาคารโลกรายงานว่าช่วง มี.ค.-เม.ย. 2565 ดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกเพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปีถึง 15% และเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึง 80%  ราคาปุ๋ย อาหารสัตว์ และพลังงานซึ่งรัสเซียและยูเครนเป็นประเทศผู้ส่งออกสำคัญในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น จึงส่งผลให้ต้นทุนหลักในห่วงโซ่อุตสาหกรรมการเกษตรสูงขึ้น เมื่อราคาสินค้าเกษตรและอาหารภายในประเทศสูงขึ้น ผลที่ตามมาคือ มาตรการระงับหรือลดปริมาณการส่งออก การปกป้องตลาดในประเทศเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อปัญหาปากท้องและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเมืองภายในประเทศ จึงส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหารของอาเซียนในที่สุด

อินโดนีเซีย ผู้ครองสัดส่วนการส่งออกน้ำมันปาล์มกว่า 60% ของโลก ออกมาตรการระงับการส่งออกชั่วคราวในเดือน เม.ย.-พ.ค. ที่ผ่านมาเพื่อควบคุมอัตราค่าครองชีพในประเทศ ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกรวมถึงอาเซียนสูงขึ้น  

มาเลเซีย สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) สูงขึ้นว่าปี 2564 ถึง 4.1% รัฐบาลได้ทุ่มงบอุดหนุนครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกว่า 395.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อการพยุงราคาน้ำมันพืช รวมถึงระงับการส่งออกไก่เดือนละ 3.6 ล้านตัวจนกว่าราคาไก่ในประเทศจะมีเสถียรภาพ

สิงคโปร์ พึ่งพิงการนำเข้าสินค้าอาหารสูงถึง 90% โดยนำเข้าจากมาเลเซียราว 34% ราคาอาหารในประเทศจึงสูงขึ้นจากปี 2564 ถึง 4%  การระงับการส่งออกไก่ของมาเลเซียส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมอาหารซึ่งเป็นจุดเด่นการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมของสิงคโปร์ ภาครัฐจึงเร่งกระจายความเสี่ยงโดยการแสวงหาแหล่งวัตถุดิบที่หลากหลาย

ตัวอย่างข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า โครงการสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารของอาเซียนมีลักษณะการพึ่งพาอาศัยกันอย่างซับซ้อน เนื่องจากความได้เปรียบด้านความเชื่อมโยงทางภูมิศาสตร์ ระบบขนส่ง และพฤติกรรมการบริโภคที่ใกล้เคียงกันจากรากฐานทางวัฒนธรรมร่วมกันที่มียาวนาน

โจทย์สำคัญระยะยาวของอาเซียนคือ การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารแบบครบวงจรเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารโดยใช้ประโยชน์จากกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาคเพื่อลดการพึ่งพิงจากภายนอก

แม้ในปัจจุบันระบบเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศจะเกิดนวัตกรรมการรวมกลุ่มในรูปแบบใหม่ ๆ ซึ่งมุ่งเน้นความร่วมมือทั้งในมิติความมั่นคงและเศรษฐกิจในลักษณะของโครงข่ายที่กว้างขึ้น ตามแนวคิดเสรีนิยมใหม่ซึ่งมองว่าความร่วมมือที่ตั้งอยู่บนการมีผลประโยชน์ร่วมกันสามารถลดต้นทุนในความร่วมมือได้ ดังปรากฏการรวมกลุ่มที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีลักษณะของการรวมกลุ่มขนาดใหญ่ข้ามทวีป ข้ามภูมิภาค เช่น BRI , CPTPP,  RCEP หรือ IPEF เป็นต้น

แต่จากสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในจริงในอาเซียนพบว่า เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่ละประเทศมีแนวโน้มที่จะแสวงหาทางรอดและมาตรการป้องกันแบบทางใครทางมันมากกว่าการหวังพึ่งพิงกรอบความร่วมมือขนาดใหญ่

ดังนั้น การใช้ประโยชน์จากความร่วมมือระดับภูมิภาคหรือระดับอนุภูมิภาคของอาเซียน เช่น IMT-GT หรือ ACMECS จึงเป็นโอกาสสำคัญของอาเซียนในการกระชับความร่วมมือเพื่อการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานเข้าด้วยกันเพื่อดูดซับความเสียหายทางเศรษฐกิจและบรรเทาปัญหาปากท้องของประชาชนในอนุภูมิภาคอย่างยั่งยืน

———————–

ผู้เขียน

กอปร์ธรรม นีละไพจิตร

นักวิจัย

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)

www.itd.or.th

ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : การเงิน-ลงทุน

ปีที่ 35 ฉบับที่ 12156 วันพุธที่ 6 กรกฎาคม 2565 หน้า 8 (ล่าง)  คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 340 facebook twitter mail
Top