view 637 facebook twitter mail

ประเทศกำลังพัฒนาก้าวสู่ ‘ระบบศุลกากรอัตโนมัติ’

เกี่ยวกับเอกสาร

ประเทศกำลังพัฒนาก้าวสู่ ‘ระบบศุลกากรอัตโนมัติ’

การพัฒนาการอำนวยความสะดวกทางการค้าด้วยระบบดิจิทัลถือเป็นปัจจัยสำคัญของการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบัน โดยเฉพาะช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศได้ปรับปรุงและพัฒนาระบบศุลกากรเพื่อรองรับการค้าที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น โดยนำระบบศุลกากรอัตโนมัติ (Automated System for Customs Data: ASYCUDA) มาปรับใช้

ซึ่งเป็นระบบที่อังค์ถัด (UNCTAD) ได้พัฒนาและออกแบบเพื่อให้การดำเนินการด้านศุลกากรเป็นระบบอัตโนมัติ ตั้งแต่ปี 2549 ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นระบบ ASYCUDAWorld (ตั้งแต่ปี 2559) เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ กว่า 100 ประเทศนำไปปรับใช้

ASYCUDA เป็นโครงการความช่วยเหลือด้านเทคนิคของอังค์ถัด ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศได้นำระบบนี้ไปปรับใช้กับการดำเนินการด้านศุลกากร ส่งผลให้รายได้จากภาษีศุลกากรสูงขึ้นและลดระยะเวลาดำเนินพิธีการศุลกากรให้สั้นลง ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกได้รับความสะดวกมากขึ้น

ประเทศกำลังพัฒนาที่ใช้ระบบ ASYCUDA ได้รับประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการค้าที่เป็นมาตรฐานโดยอัตโนมัติ มีการนำเครื่องมือและอุปกรณ์สารสนเทศสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน ส่งผลให้สามารถรวบรวมข้อมูลทางการค้าที่ทันสมัยเพื่อวิเคราะห์ปรับปรุงการให้บริการ  มีกิจกรรมพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในดำเนินงาน เพื่อปรับกฎระเบียบการค้าภายในประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

ปัจจุบันประเทศกำลังพัฒนาที่นำระบบ ASYCUDA ไปปรับใช้ สามารถพัฒนาการดำเนินพิธีการศุลกากรได้ดีขึ้น สำหรับในอาเซียน ยกตัวอย่าง กัมพูชาได้นำระบบนี้มาปรับใช้ตั้งแต่ปี 2558 โดยกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ของกัมพูชาได้นำระบบ ASYCUDAWorld มาใช้ดำเนินการหลักในการจัดการด้านการขนส่ง ด้าน e-payment และด้านทรัพยากรบุคคล ควบคู่ไปกับ 3 แอปพลิเคชันที่ดำเนินการแยกกันในการจัดการความเสี่ยงและการประเมินมูลค่า การบำรุงรักษาและการสำรองข้อมูล

ส่งผลให้รายได้จากศุลกากรของกัมพูชาเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 และมีจำนวนสำนักงานศุลกากรที่ใช้ระบบปฏิบัติการด้วยคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น จากทั้งหมด 133 แห่ง มี 91 แห่งใช้ระบบคอมพิวเตอร์ ที่เหลือ 42 แห่งใช้ระบบเอกสารที่เป็นกระดาษ

และยังทำให้ดำเนินงานของกัมพูชาดีขึ้นทั้งหน่วยงานเกี่ยวกับการตรวจคนเข้าเมือง พิธีการศุลกากร และการดำเนินงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าขายระหว่างประเทศ เช่น การบริการที่ดีขึ้นและรวดเร็วขึ้นด้วยการลดระยะเวลาดำเนินพิธีการศุลกากร จากเดิม 5 วัน เป็นน้อยกว่า 1 วัน

ระบบนี้ยังสนับสนุนให้กัมพูชามีทรัพยากรดำเนินการด้านศุลกากรเพิ่มขึ้น เช่น การใช้ระบบบันทึกประจำวัน (daybook) ที่เปิด/ปิดด้วยระบบอัตโนมัติ และการปรับปรุงระบบการชำระเงิน รวมถึงมีระบบการปกป้องข้อมูลการสื่อสารที่ปลอดภัยระหว่างลูกค้าและเซิร์ฟเวอร์ผ่านการติดตั้งใบรับรองดิจิทัลและรหัสสำหรับแอปพลิเคชันและเว็บเซิร์ฟเวอร์

รวมทั้งยังลดความซ้ำซ้อนและปกป้องข้อมูลด้วยการทำงานตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน มีกลไกปกป้องข้อมูลในกรณีที่ระบบล่มและสามารถกู้คืนข้อมูลในกรณีภัยพิบัติฉุกเฉินได้ (Disaster Recovery: DR) ซึ่งควบคุมโดยศูนย์ข้อมูลหลัก และแยกข้อมูลธุรกรรมออกจากข้อมูลการดำเนินการและเอกสารที่สแกนไว้

ประสบการณ์ของประเทศกำลังพัฒนาที่นำระบบศุลกากรอัตโนมัติ (ASYCUDA) มาปรับใช้ แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของระบบดิจิทัลในการช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า ช่วยเร่งรัดกระบวนการตรวจผ่านพิธีการศุลกากรให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น มีฐานข้อมูลที่ทันสมัยเข้าถึงได้ สนับสนุนการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน

————————

Tag: ASYCUDA, Customs, ASEAN

ผู้เขียน

น้ำผึ้ง ทัศนัยพิทักษ์กุล

นักวิจัยอาวุโส

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)

www.itd.or.th

ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat

ปีที่ 35 ฉบับที่ 12221 วันพุธที่ 5 ตุลาคม 2565

หน้า 8 (ซ้าย)  คอลัมน์ “Insight ASEAN”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 637 facebook twitter mail
Top