บทความวิชาการ
view 1939 facebook twitter mail

CBAM กับผลกระทบต่ออาเซียน

เกี่ยวกับเอกสาร

การเผชิญกับ 3 วิกฤติซ้ำซ้อนของโลกซึ่งประกอบด้วยโรคระบาด สงคราม และสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเผชิญภาวะตกต่ำต่อเนื่อง ในปี 2566 ที่กำลังจะถึงนี้ โลกก็ยังคงเผชิญกับภาวะผันผวนและความเปราะบางด้านเศรษฐกิจ  รายงานของ WTO คาดการณ์ว่าปี 2566 เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับภาวะชะลอตัวลง ปริมาณการค้าสินค้าโลกคาดว่าจะขยายตัวลดลงเหลือ 1.0% จากเดิมที่เคยคาดว่าจะขยายตัว 3.4% ขณะที่สถานการณ์เงินเฟ้อจะรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น

วิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสถานการณ์ที่ยากจะหลีกเลี่ยง ประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพาภาคการส่งออกเป็นกลไกขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจต้องเร่งปรับตัว เพราะสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ของโลกเริ่มบังคับใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมกับการค้าระหว่างประเทศเข้มงวดขึ้น มาตรการ CBAM ของ EU จะเริ่มมีผลบังคับใช้แต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป โดยเฉพาะกับสินค้า 5 ประเภท ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย และกระแสไฟฟ้า และมีแนวโน้มขยายการบังคับใช้กับสินค้าประเภทไฮโดรเจน เคมีอินทรีย์ พลาสติก และแอมโมเนีย

CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) คือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของ EU เป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้ามายังตลาด EU เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง มาตรการนี้จะส่งผลให้การส่งออกสินค้าไปยัง EU ของภาคอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานเข้มข้นในการผลิต ต้องเผชิญกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากการถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตสินค้า 

การบังคับใช้ CBAM ช่วง 3 ปีแรก (ปี 2566-2568) เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยผู้นำเข้าสินค้ามาจำหน่ายใน EU มีหน้าที่รายงานข้อมูลปริมาณสินค้าที่นำเข้าในรอบหนึ่งปีก่อนหน้า รวมถึงรายงานข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านำเข้านั้น  ต้องซื้อและส่งมอบใบรับรอง CBAM ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อประกอบการนำเข้า ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป EU จะเริ่มบังคับใช้ CBAM อย่างเต็มรูปแบบ

 อาเซียนให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง ปี 2564 EU เป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของอาเซียน สินค้าส่งออกของอาเซียนไปยัง EU ประมาณ 86% เป็นสินค้าอุตสาหกรรม อินโดนีเซียจะได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าไปยัง EU มูลค่ารวม 938.32 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้เริ่มศึกษาความซับซ้อนของกฎระเบียบและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในท้องถิ่น

เวียดนาม ถือเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของ EU เนื่องจากมีความตกลงการค้าเสรีกับ EU ได้เริ่มมีโครงการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อประเมินผลกระทบของ CBAM ต่อสินค้าส่งออก การเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงาน เร่งดำเนินการตามข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับผลกระทบและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับแผนงานและการออกแบบระบบภาษีคาร์บอน

สิงคโปร์ เริ่มให้ความสำคัญกับการปรับตัวเพื่อรองรับการบังคับใช้ CBAM โดยได้ประกาศใช้นโยบาย Green Plan 2030 ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ก.พ. 2564 ถือเป็นวาระของประเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและตั้งเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

ประเทศไทย ได้ติดตามความคืบหน้ากระบวนการออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้ CBAM อย่างใกล้ชิด และเริ่มเตรียมความพร้อมรับมือโดยเฉพาะการประเมิน Carbon Footprint เพื่อให้ทราบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตสินค้า ซึ่งต้องนำไปรายงานภายใต้ CBAM โดยภาครัฐหลายหน่วยงานประสานงานกันเพื่อให้มีระบบบริหารจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ในระยะยาวการบังคับใช้ CBAM จะขยายกว้างมากขึ้น  อาเซียนซึ่งมีระบบการผลิตที่เป็นห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคที่เข้มแข็งในหลายอุตสาหกรรมจึงต้องกำหนดมาตรการรับมือกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับการบังคับใช้ CBAM ร่วมกันอย่างใกล้ชิด ผู้ประกอบการที่นำเข้าปัจจัยการผลิตขั้นต้นและขั้นกลางจากประเทศอาเซียนควรเริ่มศึกษาและประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อห่วงโซ่การผลิตและเตรียมความพร้อมรับมือ

ผู้เขียน
น้ำผึ้ง ทัศนัยพิทักษ์กุล
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12271 วันพุธที่ 14 ธันวาคม 2565
หน้า 8 (ล่าง) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 1939 facebook twitter mail
Top