บทความวิชาการ
view 1567 facebook twitter mail

ความร่วมมือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อาเซียน

เกี่ยวกับเอกสาร

ความร่วมมือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อาเซียน

พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) มีบทบาทอย่างมากในปัจจุบันและกลายเป็นส่วนสำคัญของกิจกรรมในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นส่วนประกอบในการค้าระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน เนื่องมาจากเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นช่วยในการย่นระยะเวลา ลดความยุ่งยาก และกำจัดอุปสรรคของการซื้อขายที่อยู่ห่างโดยระยะทาง

ข้อมูลจากรายงาน e-Conomy SEA 2021 ระบุว่า ปี 2564 อาเซียนมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตใหม่ 40 ล้านคน โดย 8 ใน 10 ของผู้ใช้มีการซื้อออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้ง รวมแล้วอาเซียนมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 440 ล้านคน นอกจากนั้นจากการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการ 8 ใน 10 คาดว่าใน 5 ปีข้างหน้ายอดขายกว่าครึ่งจะมาจากช่องทางออนไลน์

อาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีศักยภาพสูงและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง  ผู้นำอาเซียนเล็งเห็นถึงความสำคัญกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยอาเซียนมีความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ กล่าวคือ

อาเซียนเริ่มมีความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ปี 2543 ตามกรอบความตกลงด้านอิเล็กทรอนิกส์อาเซียนซึ่งกำหนดแนวทางเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้าน ICT เพื่อเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์จาก ICT และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอำนวยความสะดวกการค้าข้ามแดนและธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

AEC Blueprint 2015 ระบุถึงประเด็นพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อวางโครงสร้างด้านนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องและช่วยให้มีการค้าสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ในอาเซียน ต่อเนื่องมาใน AEC Blueprint 2025 ซึ่งส่งเสริมความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์พัฒนาความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียนเพื่ออำนวยความสะดวกธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน

ในการดำเนินงานมีกลไกการขับเคลื่อนสำคัญ คือ คณะกรรมการประสานงานด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (ACCEC) ตั้งขึ้นเพื่อเสริมสร้างกลไกความร่วมมือระดับภูมิภาคด้านพาณิชอิเล็กทรอนิกส์ ACCEC รับผิดชอบนำเสนอข้อริเริ่มที่จำเป็นต่อการใช้ประโยชน์จากพาณิชอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาค และทำงานร่วมกับองค์กรรายสาขาอื่นที่เกี่ยวข้องในอาเซียนเพื่อประสานความริเริ่มจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่สำคัญต่อการเติบโตของภาคพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

ความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียนมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนในอาเซียน ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่สร้างความเชื่อมั่น กระชับความร่วมมือของประเทศสมาชิกด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตอย่างทั่วถึงและลดช่องว่างการพัฒนาในภูมิภาคอาเซียโดยความตกลงมุ่งสร้างสภาพแวดล้อมทางกฎหมายและทางธุรกิจที่เอื้ออำนวย

ในด้านการอำนวยความสะดวกพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนตามความตกลง มีประเด็นสำคัญ ได้แก่ การค้าไร้กระดาษ การยืนยันตัวบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์และลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ การคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ การถ่ายโอนข้อมูลข้ามพรมแดนด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์ และที่ตั้งของอุปกรณ์ประมวลผล นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสำคัญอื่นตามความตกลง ได้แก่ ความมั่นคงทางไซเบอร์ การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ โลจิสติกส์ และกฎหมายและกฎระเบียบภายในประเทศ

โดยอาเซียนได้จัดทำแผนงานการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน กำหนดขั้นตอนการดำเนินงานในภูมิภาคเพื่อให้อาเซียนมีความมั่นใจในการขยายตัวด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง แม้แผนงานนี้จะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่คาดว่าจะสนับสนุนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของภูมิภาคและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงเป็นการประสานกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจอย่างมากในปัจจุบัน ซึ่งการส่งเสริมการขยายตัวของตลาดและการเติบโตของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในอาเซียนต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐาน การอำนวยความสะดวกทางการค้า และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียน เพื่อส่งเสริมการค้าไร้พรมแดนและสนับสนุนให้อาเซียนเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจดิจิทัล

————————-

ผู้เขียน

ภัชชา ธำรงอาจริยกุล

นักวิจัย

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 1567 facebook twitter mail
Top