บทความวิชาการ
view 1947 facebook twitter mail

‘อินโดนีเซีย’ โอกาสพลิกโฉมอาเซียน ปี 2023

เกี่ยวกับเอกสาร

ปี 2023 อินโดนีเซียรับตำแหน่งประธานอาเซียนต่อจากกัมพูชา นำเสนอแนวการขับเคลื่อนอาเซียนภายใต้ธีม ASEAN Matters: Epicentrum of Growth” หรือ อาเซียนที่มีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางการเจริญเติบโต โดย ประธานาธิบดี โจโก วิโดโด หรือ โจโกวี่ ได้แสดงวิสัยทัศน์ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 40 และ 41 เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า “อาเซียนต้องเป็นภูมิภาคที่มีเสถียรภาพและสันติภาพ เป็นกระบอกเสียงเรียกร้องให้โลกมีเสถียรภาพ บังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศอย่างทั่วถึง และรักษาความเป็นกลาง อาเซียนต้องสร้างเกียรติภูมิให้แก่ภูมิภาคด้วยการส่งเสริมคุณค่าด้านมนุษยธรรมและประชาธิปไตย”

ด้านเศรษฐกิจประธานาธิบดีโจโกวี่ ตั้งเป้าให้อาเซียน “เติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ครอบคลุม และยั่งยืน ด้วยการเสริมสร้างศักยภาพและใช้ประโยชน์จากกลไกที่มีอยู่ของอาเซียนอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อให้อาเซียนผ่านวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอีก 20 ปีข้างหน้าด้วยวิถีอาเซียน”

ท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกที่ยังคงถดถอย ยังไม่ฟื้นตัว  ประกอบกับการขาดเสถียรภาพทางการเมืองระหว่างประเทศ เป็นโอกาสสำคัญของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในการช่วงชิงพื้นที่ในห่วงโซ่อุปทานโลก โดยการเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและมีเสถียรภาพสำหรับเป็นฐานการลงทุน การผลิต และการส่งออกวัตถุดิบป้อนสู่ตลาดโลก เช่นเดียวกับโอกาสในการช่วงชิงพื้นที่ในเวทีระหว่างประเทศ     

ในช่วงปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจโกวี่ เป็นผู้นำจากเอเชียคนแรกที่เดินทางไปยังรัสเซียพบกับ  ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน และยูเครนพบกับ ประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี เรียกร้องให้เปิดการขนส่งวัตถุดิบ อาหาร ปุ๋ย และพลังงานเชื้อเพลิงซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและวิกฤติปากท้องของประชากรโลก เช่นเดียวกับการเป็นเจ้าภาพการประชุม G-20 ซึ่งอินโดนีเซียเรียกร้องให้ยุติสงครามและร่วมกันฟื้นฟูเศรษฐกิจ สอดคล้องกับหลักนโยบายต่างประเทศซึ่งอินโดนีเซียยึดมั่นมาตั้งแต่ประกาศเอกราชคือหลักการ “Bebas-Aktif” หรือ “อิสระและกระตือรือร้น” ซึ่งหมายถึงการไม่ฝักใฝ่ขั้วอำนาจฝ่ายใดและสร้างบทบาทเชิงรุกด้านการต่างประเทศ

            ด้าการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ปี 2564 อินโดนีเซียมีมูลค่าการนำเข้าส่งออกรวมถึง 398,815 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวจากปี 2563 ถึง 31.4% สามารถชูจุดแข็งความพร้อมด้านทรัพยากรและกำลังแรงงาน ดังเช่นการบรรลุข้อตกลงจำหน่ายนิกเกิลมูลค่ากว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับบริษัท Tesla เพื่อผลิตแบตเตอรี่ พร้อมกับตั้งเป้าให้อินโดนีเซียเป็นฐานการผลิตรถไฟฟ้ามิใช่เพียงประเทศผู้ผลิตชิ้นส่วนเท่านั้น

บทบาทการต่างประเทศและการพัฒนาเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สะท้อนถึงความพยายามในการสร้างโอกาสจากวิกฤติเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศซึ่งไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ด้วยความเชื่อมั่นในพลังของประเทศกำลังพัฒนาจึงเป็นที่มาของแนวคิดการเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า โดยบทบาทของอินโดนีเซียมิได้มีความพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับภูมิภาคเท่านั้น แต่กำลังก้าวสู่ระดับโลกซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่จะสร้างแรงผลักดันให้อาเซียนเติบโตได้อย่างยั่งยืนและสันติ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นภายในภูมิภาคซึ่งเป็นที่จับตามองคือการกำหนดท่าทีต่อเมียนมาซึ่งอินโดนีเซียมีท่าทีที่แข็งขันต่อการยุติความขัดแย้งภายในเมียนมามาโดยตลอดช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา โจทย์สำคัญนอกจากการยกบทบาทของอาเซียนในฐานะผู้รักษาสันติภาพ เสถียรภาพ และความยั่งยืนขึ้นในระดับโลกเพื่อพิสูจน์ความเป็นแกนกลางของอาเซียนแล้ว ในปีหน้าอาเซียนยังต้องเผชิญกับโจทย์สำคัญในการรักษาเสถียรภาพภายในภูมิภาคซึ่งเป็นบทพิสูจน์ครั้งสำคัญของหลัก “วิถีอาเซียน” ปี 2023 จึงอาจเป็นหมุดหมายสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์อาเซียน

ผู้เขียน
กอปร์ธรรม นีละไพจิตร
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12281 วันพุธที่ 28 ธันวาคม 2565
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 1947 facebook twitter mail
Top