บทความวิชาการ
view 995 facebook twitter mail

พัฒนา Medical Tourism ไทยรองรับกลุ่มประเทศ CLMV

เกี่ยวกับเอกสาร

พัฒนา Medical Tourism ไทยรองรับกลุ่มประเทศ CLMV

ประเทศไทยมีขีดความสามารถการแข่งขันในธุรกิจบริการด้านการแพทย์ด้วยปัจจัยสำคัญหลายประการที่ส่งผลให้การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยขยายตัวต่อเนื่อง เช่น อัตราค่ารักษาพยาบาลที่เหมาะสม ความพร้อมทางการแพทย์และสถานพยาบาล บุคลากรมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เทคโนโลยีทันสมัย การบริการที่มีคุณภาพ

ขีดความสามารถการแข่งขันของธุรกิจบริการสุขภาพทำให้ชาวต่างชาติโดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เกิดการรับรู้ว่าประเทศไทยมีบุคลากรแพทย์ที่มีความสามารถในการรักษาโรคและมีความคุ้มค่าในการรักษา ซึ่งเป็นปัจจัยดึงสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยข้ามพรมแดนมาใช้บริการในประเทศไทย โดยผู้ที่ข้ามมาใช้บริการคำนึงถึงคุณภาพของการบริการสุขภาพที่จะได้เป็นหลัก เนื่องจากรับรู้ได้ว่าเมื่อมาใช้บริการในประเทศไทยจะได้รับบริการที่มีคุณภาพสูงเมื่อเปรียบเทียบกับสถานบริการในประเทศเพื่อนบ้าน

ขณะที่ในอีกด้าน จากปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพของประชาชนในกลุ่มประเทศ CLMV และไทยที่แตกต่างกันอย่างมาก ทั้งระดับการพัฒนาทรัพยากรสุขภาพและโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ประชากรในกลุ่มประเทศ CLMV ข้ามแดนมาเพื่อรับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลของรัฐและเอกชนของไทย ทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และแรงงานต่างด้าว เนื่องจากการเดินทางข้ามพรมแดนที่เสรีมากขึ้นเอื้อให้กลุ่มลูกค้าผู้ป่วยจาก CLMV สามารถเข้าถึงการรักษาทางการแพทย์ในไทยได้สะดวกและง่ายขึ้นโดยเฉพาะในจังหวัดตามแนวชายแดน

เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทย ควรมีการดำเนินการพัฒนาระยะสั้นอย่างเร่งด่วน เช่น ส่งเสริมการตลาดเฉพาะเป้าหมาย สร้างความร่วมมือด้านการตลาดกับธุรกิจอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ จัดทำฐานข้อมูลและความเชี่ยวชาญรายสาขาของโรงพยาบาลในประเทศไทย รวมถึงการจัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ พัฒนาทักษะด้านภาษาให้บุคลากรทางการแพทย์ แก้ไขข้อกฎหมายให้แพทย์ชาวต่างประเทศทำงานในประเทศไทยได้นานขึ้น

โดยในการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยในเชิงโครงสร้าง ควรวางแผนการผลิตแพทย์เฉพาะทาง ส่งเสริมให้โรงพยาบาลเอกชนไทยผ่านการรับรองมาตรฐานโรงพยาบาลในระดับสากล (Joint Commission International: JCI) จัดตั้งหน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์โดยตั้งเป็นศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว รวมถึงพัฒนาและสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมโยงเส้นทางระหว่างหัวเมืองหลักกับเมืองย่อยเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางท่องเที่ยวและที่พักฟื้นในภูมิภาคต่าง ๆ

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการรธุรกิจสุขภาพของไทยควรสร้างจุดเด่นของการบริการทางการแพทย์ในสาขาเฉพาะทางเพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโรงพยาบาลในระยะยาว มุ่งการรักษาที่ดีมีคุณภาพมากกว่าเน้นเรื่องธุรกิจหรือการแสวงหาผลกำ ไรเกินควรเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจขาลงที่ส่งผลถึงสภาพคล่องทางการเงินและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจสุขภาพและธุรกิจเชื่อมโยง ควรร่วมกำหนดรูปแบบการจัดการอุปทานของธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ตลอดห่วงโซ่อุปทานให้เป็นระบบเพื่อเติมเต็มช่องว่างการบริการระหว่างโรงพยาบาลกับลูกค้าชาวต่างชาติตอบสนองความต้องการของลูกค้าชาวต่างประเทศที่ต้องการใช้บริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้อย่างครบวงจร

และเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์กลุ่ม CLMV ประเทศไทยต้องเร่งปัญหาภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดการสงเคราะห์ตามหลักมนุษยธรรมของโรงพยาบาลรัฐที่เกิดจากการไม่สามารถเรียกเก็บค่าบริการได้ โดยพิจารณาสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ดีในระดับพื้นที่ระหว่างโรงพยาบาลชุมชนชายแดนกับโรงพยาบาลประเทศเพื่อนบ้านและหน่วยงานในพื้นที่ การคัดกรองด้านสิทธิค่ารักษาอย่างรัดกุม หาแนวทางการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดการกองทุนประกันสุขภาพระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ภาครัฐต้องตระหนักถึงควบคุมกำกับอัตราค่าบริการให้เหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบด้านราคาและคุณภาพจากกลุ่มผู้ป่วยข้ามแดนเพื่อจะไม่ให้ส่งผลกระทบต่อนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของประเทศอีกด้วย

รายละเอียดสามารถอ่านรายงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่ www.itd.or.th

———————–

Tag: Medical Tourism, CLMV, ASEAN

ผู้เขียนและเรียบเรียง

ภัชชา ธำรงอาจริยกุล

นักวิจัย

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)

www.itd.or.th

เผยแพร่ : เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ https://www.posttoday.com/aec Section : AEC-บทวิเคราะห์อาเซียน

วันพุธที่ 29 มิถุนายน 2565

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 995 facebook twitter mail
Top