บทความวิชาการ
view 656 facebook twitter mail

มาตรการทางค้าที่มิใช่ภาษีกัมพูชา

เกี่ยวกับเอกสาร

ITD ได้ดำเนินงานโครงการประเมินมาตรการทางค้าที่มิใช่ภาษี (NTMs) และผลกระทบต่อการค้าและความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มประเทศ CLMV กับประเทศไทย  ในการศึกษาขั้นต้นได้ศึกษากรณี กัมพูชา พบว่า กัมพูชาได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีรวม 9 ฉบับกับ 16 ประเทศ ด้านโครงสร้างการส่งออก-นำเข้าสินค้า กัมพูชาส่งออกสิ่งทอมูลค่ารวมถึง 70.1% ของการส่งออกทั้งหมดโดยส่วนใหญ่ส่งออกไปยังกลุ่มประเทศยุโรป รองลงมาคือการส่งออกสินค้าเกษตรที่กว่า 73% ส่งออกไปยังกลุ่มประเทศเอเชีย  ด้านการนำเข้าสินเข้าพบว่ากัมพูชานำเข้าผ้าถัก เชื้อเพลิง น้ำมันแร่ เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า โดยนำเข้าจากจีนคิดเป็นสัดส่วน 36% และจากไทย 14.9%

กัมพูชาสามารถลดอัตราภาษีลงได้อย่างต่อเนื่องในหลายรายการ อย่างไรก็ตามในปี 2558 พบว่ากัมพูชายังคงมีกฎระเบียบที่ชี้ชัดได้ว่าเป็น NTMs ส่วนใหญ่เป็นมาตรการที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสุขภาพมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม เช่น การเข้มงวดให้จดทะเบียนอาหารสัตว์ วัตถุดิบ สารเติมแต่ง หรือกฎหมายว่าด้วยการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กฎระเบียบควบคุมมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยของน้ำซีอิ้ว น้ำปลา เกลือ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ

กัมพูชามีหน่วยงานที่ประกาศใช้กฎระเบียบที่เป็น NTMs มากที่สุดในปี 2561 คือกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง มีกฎระเบียบที่เป็น NTMs จำนวน 110 รายการ รองลงมาคือกระทรวงสาธารณสุข (MOH) จำนวน 63 รายการ และกระทรวงอุตสาหกรรม สินแร่ และพลังงาน (MIME) จำนวน 39 รายการ

ปี 2561 กัมพูชามี NTMs ด้านมาตรการทางเทคนิคจำนวน 131 รายการ  รองลงมาคือมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกจำนวน 117 รายการ มาตรการที่เกี่ยวข้องกับโควตาการส่งออกจำนวน 53 รายการ และมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช จำนวน 49 รายการ อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบจำนวนมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีในช่วงปี 2558-2561 พบว่ากัมพูชายังอยู่ในระดับต่ำกว่าไทย เวียดนาม และสปป.ลาว

กรณีการค้ากับไทย กัมพูชานำเข้าสินค้าเกษตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเครื่องดื่ม (น้ำหวาน น้ำดื่มแต่งกลิ่นแต่งสี) ยาสูบ อ้อย น้ำตาลซูโครส และหนังขนสัตว์ ซึ่งกัมพูชานำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยสูงถึง 36.4% ของการนำเข้าสินค้าเกษตรทั้งหมด ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่กัมพูชามุ่งเน้นการกำหนดมาตรการควบคุมคุณภาพด้านสุขอนามัยในอาหารและสินค้าเกษตร

กัมพูชาถูกสหภาพยุโรประงับสิทธิพิเศษจากการค้าส่งผลให้รัฐบาลกัมพูชาดำเนินการปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน โดยประกาศปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและใช้มาตรการกระตุ้นหลายประการ รวมทั้งมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศโดยการจัดทำกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่และกฎหมายว่าด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อดึงดูดการลงทุนและการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยอุตสาหกรรมที่น่าสนใจลงทุนในกัมพูชา เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร การผลิตและการประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า

ความสำเร็จของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ คือ การอำนวยความสะดวกทางค้าอย่างครบวงจร การลดมาตรการที่มิใช่ภาษีถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เพราะการเป็นประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีจุดเด่นสำคัญ คือ การมีแรงงานและมีทรัพยากรธรรมชาติพื้นฐานที่สามารถแปรรูปโดยอาศัยเทคโนโลยีและระบบการบริหารจัดการที่ทันสมัยจากต่างประเทศ ในการผลิตสินค้าซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มุ่งส่งเสริมการลงทุน ย่อมมีการนำเข้าปัจจัยการผลิตทั้งขั้นต้นและขั้นกลางจากต่างประเทศ การลดมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษีจะเป็นปัจจัยส่งเสริมการก้าวสู่การเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตที่มีประสิทธิภาพในอนาคต

ผู้เขียน
วิมล ปั้นคง
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมการวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 656 facebook twitter mail
Top