view 784 facebook twitter mail

‘ความตกลงปารีส’ ภายใต้อาเซียน

เกี่ยวกับเอกสาร

ความตกลงปารีส’ ภายใต้อาเซียน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) กับการค้าและเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์กันอย่างมาก เมื่อการค้าและเศรษฐกิจเติบโตขึ้น กิจกรรมต่าง ๆ ก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นตัวการสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งส่งผลกระทบทั่วโลกทั้งต่อสังคมและเศรษฐกิจ

นานาประเทศตระหนักถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพยายามหาแนวทางร่วมกันเพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นำไปสู่ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เกิดขึ้นจากการประชุม COP ครั้งที่ 21 ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2558

ความตกลงปารีสตั้งเป้าจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในศตวรรษนี้ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และพยายามให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ทุก 5 ปี ประเทศสมาชิกจะต้องมีข้อเสนอดำเนินการของประเทศ (Nationally Determined Contribution หรือ NDC) และมีการรายงานผลก่อนสิ้นสุดเวลา

ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศล้วนเป็นภาคีในความตกลงปารีสและได้นำส่ง NDC ฉบับแรก โดยภายหลังหลายประเทศได้ยกระดับเป้าหมายโดยนำส่ง NDC ฉบับแรกปรับปรุงและฉบับยกระดับ ซึ่ง NDC ของประเทศสมาชิกอาเซียนกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกไว้แตกต่างกันไป

ภายในปี 2573 ประเทศสมาชิกอาเซียนตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบกับการปล่อยปกติในกรณีไม่มีเงื่อนไขและกรณีมีเงื่อนไขในการได้รับการช่วยเหลือจากนานาชาติ ดังนี้ NDC ฉบับแรกของบรูไนตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 20% แบบไม่มีเงื่อนไข  NDC ฉบับแรกปรับปรุงของกัมพูชามุ่งลดก๊าซเรือนกระจกรวมของประเทศแบบมีเงื่อนไข 41.7%

NDC ฉบับแรกปรับปรุงของสปป.ลาวเสนอลดก๊าซเรือนกระจก 60% แบบไม่มีเงื่อนไข และในกรณีมีเงื่อนไขจะยิ่งยกระดับการดำเนินการขึ้น  NDC ฉบับแรกของฟิลิปปินส์ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกรวม 75% โดยเป็นแบบไม่มีเงื่อนไข 2.71% และแบบมีเงื่อนไข 72.29% NDC ฉบับแรกปรับปรุงของไทยเสนอลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20% แบบไม่มีเงื่อนไข หรือเพิ่มเป็น 25% แบบมีเงื่อนไข

NDC ฉบับแรกปรับปรุงของเวียดนามตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซ 9% แบบไม่มีเงื่อนไข และ 27% กรณีมีเงื่อนไข NDC ฉบับแรกปรับปรุงของเมียนมาเสนอลดการปล่อยก๊าซ 244.52 ล้าน tCO2e แบบไม่มีเงื่อนไข และ 414.76 ล้าน tCO2e แบบมีเงื่อนไข

นอกจากนี้ มาเลเซียเสนอลดความเข้มข้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 45% ต่อ GDP เทียบกับปี 2548 แบบไม่มีเงื่อนไขตาม NDC ฉบับแรกปรับปรุง และ NDC ฉบับแรกปรับปรุงของสิงคโปร์วางเป้าหมายจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดปี 2573 ที่ 65 ล้าน tCO2e ซึ่งจะลดความเข้มข้นการปล่อยก๊าซ 36% เทียบกับปี 2548

เพื่อบรรลุเป้าหมายจำกัดการเพิ่มอุณภูมิตามความตกลงปารีส โลกจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบกับปี 2553 ให้ได้ 45% ภายในปี 2573 อย่างไรก็ดี จากรายงานการวิเคราะห์ NDC ของทุกประเทศที่ส่ง ณ 2 พฤศจิกายน 2564 ระบุว่า ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายจำกัดการเพิ่มอุณภูมิตามความตกลงปารีสได้ เนื่องจากในปี 2573 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเพิ่มขึ้น 13.7% จากปี 2553

ที่ประชุมภาคีความตกลงปารีสก็กระตุ้นและเน้นย้ำความจำเป็นที่ประเทศสมาชิกจะยกระดับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เร่งดำเนินการและบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ ภายในประเทศ ซึ่งเมื่อเดือนกันยายน 2565 อินโดนีเซียได้นำส่ง NDC ฉบับยกระดับความเข้มข้นจากฉบับแรกปรับปรุง โดยวางเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกไว้ที่ 31.89% แบบไม่มีเงื่อนไข หรือ 43.2% ภายใต้กรณีมีเงื่อนไข

NDC แสดงเป้าหมายของประเทศสมาชิกอาเซียนภายใต้ความตกลงปารีสซึ่งยังต้องมีการดำเนินการและผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเข้มข้นในภาคส่วนต่าง ๆ ของประเทศให้บรรลุเป้าหมายและเป็นร่วมขับเคลื่อนวัตถุประสงค์การบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกให้ใกล้เข้ามาอีกขั้น

————————–

Tag: Paris Agreement, ASEAN

ผู้เขียน

ภัชชา ธำรงอาจริยกุล

นักวิจัย

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)

www.itd.or.th

ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat

ปีที่ 35 ฉบับที่ 12226 วันพุธที่ 12 ตุลาคม 2565

หน้า 8 (ซ้าย)  คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 784 facebook twitter mail
Top