บทความวิชาการ
view 1923 facebook twitter mail

สิงคโปร์กับความมั่นคงทางอาหาร

เกี่ยวกับเอกสาร

สิงคโปร์เป็นประเทศขนาดเล็กและมีประชากรหนาแน่นเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากเขตบริหารพิเศษมาเก๊า และประเทศโมนาโก โดยจากข้อมูลของ World Bank Group ระบุว่า ปี 2564 สิงคโปร์มีประชากรรวม 5.45 ล้านคน และมีความหนาแน่นของประชากร 7,692 คนต่อตารางกิโลเมตร  ขณะที่ไทยมีอัตราความหนาแน่นของประชากร 137 คนต่อตารางกิโลเมตร  

ในปี 2562 สิงคโปร์ได้จัดตั้ง Singapore Food Agency (SFA) เป็นหน่วยงานที่ดูแลด้านความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารซึ่งทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและผู้บริโภค ในด้านความมั่นคงทางอาหาร SFA ใช้ 3 กลยุทธ์ (3 food baskets) ได้แก่ นำเข้าจากแหล่งที่หลากหลาย เพิ่มผลผลิตในประเทศ และสนับสนุนบริษัทของสิงคโปร์ในการผลิตอาหารนอกประเทศ

จากรายงาน Singapore Food Statistics 2021 ระบุว่า สิงคโปร์จัดสรรพื้นที่ใช้เพื่อเกษตรกรรมและผลิตอาหารเพียง 1% ของประเทศ และวัตถุดิบอาหารของสิงคโปร์มากกว่า 90% ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยสิงคโปร์พยายามนำเข้าอาหารจากหลากหลายแหล่งเพื่อลดความเสี่ยงการพึ่งพาอาหารจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งและทำให้สามารถนำเข้าจากแหล่งอื่นหากมีเหตุขัดข้องต่าง ๆ โดยในปี 2564 สิงคโปร์นำเข้าอาหารจาก 180 ประเทศและเขตปกครอง

ประเทศที่เป็นผู้ส่งออกอาหารหลักให้สิงคโปร์คือมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน สิงคโปร์นำเข้าผัก ผลไม้ อาหารทะเล และไข่ไก่ มากที่สุดจากมาเลเซีย และนำเข้าเนื้อสัตว์จากบราซิลมากที่สุด ปัจจุบันสิงคโปร์ยังคงเพิ่มความหลากหลายของแหล่งนำเข้าอย่างต่อเนื่อง ประเทศที่เป็นแหล่งนำเข้าอาหารของสิงคโปร์ของสิงคโปร์ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย จีน เวียดนาม บราซิล ออสเตรเลีย

SFA ตั้งเป้าสามารถผลิตอาหารในประเทศได้ถึง 30% ของการบริโภคในประเทศภายในปี 2573 ซึ่งในปี 2564 มีที่เพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ของสิงคโปร์ที่ได้รับใบอนุญาต 260 แห่ง และมูลค่าของผลผลิตอยู่ที่185.2 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 13% และมีการนำเทคโนโลยีและระบบการผลิตที่ทันสมัยมาใช้ในภาคการเกษตรผ่านโครงการต่าง ๆ ของ SFA เพื่อเพิ่มผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ

การเพิ่มผลผลิตในประเทศยังช่วยเป็นหลักประกันหากห่วงโซ่การนำเข้าหยุดชะงัก โดยในปี 2564 ปริมาณของไข่ไก่ที่สามารถผลิตได้ในประเทศต่อปีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คิดเป็น 30.5% ของการบริโภคในสิงคโปร์ ขณะที่ปริมาณผักที่ผลิตได้คิดเป็น 4.4% ของการบริโภคในสิงคโปร์ และการผลิตอาหารทะเลคิดเป็น 8.0% ของการบริโภคในสิงคโปร์

นอกจากนี้ SFA ยังสนับสนุนบริษัทท้องถิ่นในประเทศในการขยายธุรกิจไปต่างประเทศและส่งออกอาหารกลับมาที่สิงคโปร์ซึ่งจะช่วยสนับสนุนความมั่นคงทางอาหาร โดยการทำธุรกิจในต่างประเทศทำให้ไม่ต้องเผชิญข้อจำกัดด้านพื้นที่ แรงงาน และยังสามารถเข้าถึงตลาดในต่างประเทศได้ด้วยเช่นกัน ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการที่เข้าไปประกอบกิจการในออสเตรเลีย บรูไน ไทย ฮ่องกง และจีน

เพื่อรับประกันความปลอดภัยด้านอาหาร สิงคโปร์ดำเนินมาตรการด้านความปลอดภัยทางอาหารบนฐานความเสี่ยง โดยการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยทางอาหารนั้น SFA ดำเนินการผ่านการนำเข้าจากแหล่งที่ผ่านการรับรองสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูง รวมถึงการตรวจตัวอย่างวัตถุดิบนำเข้า ทั้งนี้ ผู้นำเข้าสินค้าเกี่ยวกับอาหารต้องขึ้นทะเบียน มีใบอนุญาตนำเข้าในการนำเข้าสินค้า

ขณะที่ในประเทศมีการกำกับดูแลสถานประกอบการด้านเกษตรและอาหารในประเทศผ่านการออกใบอนุญาต การตรวจสถานประกอบการและตรวจตัวอย่าง ให้สอดคล้องตามกฎระเบียบ รวมทั้งในด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ ความปลอดภัยด้านอาหาร และหลักปฏิบัติด้านสุขอนามัย

จากความต้องการวัตถุดิบอาหารที่สูงและเครือข่าย FTA ที่กว้างขวาง ทำให้สิงคโปร์เป็นตลาดที่น่าดึงดูดของผู้ประกอบการเกษตรและอาหารทั่วโลก และเป็นฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการขยายตลาดในอาเซียน ประเทศไทยเองที่เป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารก็ควรใช้โอกาสจาก FTA และความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์เพิ่มโอกาสส่งออกไปยังตลาดสิงคโปร์

ผู้เขียน
ภัชชา ธำรงอาจริยกุล
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : การเงิน-ลงทุน/World Beat
ปีที่ 35 ฉบับที่ 12176 วันพุธที่ 3 สิงหาคม 2565
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 1923 facebook twitter mail
Top