บทความวิชาการ
view 2407 facebook twitter mail

‘สิงคโปร์’ สู่ประเทศสีเขียวและยั่งยืน

เกี่ยวกับเอกสาร

ขณะที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมือของประชาคมโลกเพื่อจัดการปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพ  ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างไม่อาจแยกจากกันได้ การกำหนดนโยบายการพัฒนาและยุทธศาสตร์ต่าง ๆ จึงต้องพิจารณาอย่างครอบคลุมทั้งมิติความยั่งยืนและมิติสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน

สิงคโปร์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณราว 0.11% ของโลก โดยล่าสุดเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สิงคโปร์เพิ่มความเข้มข้นเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศภายใต้ความตกลงปารีส โดยการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) ฉบับแรกปรับปรุงครั้งที่ 2 ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ที่ 60 MtCO2e ในปี 2573

ในการผลักดันเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมของสิงคโปร์ มีแผนงานอย่างต่อเนื่อง เช่น Sustainable Singapore Blueprint 2015 เป็นแนวทางการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน และ Singapore Green Plan 2030 เป็นขับเคลื่อนในระดับชาติด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้ UN’s 2030 Sustainable Development Agenda และความตกลงปารีส

การขับเคลื่อนผ่าน Singapore Green Plan ได้รับความสนใจอย่างมากในฐานะแผนบูรณาการระดับชาติที่ร่วมกันของ 5 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาประเทศ กระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม และกระทรวงคมนาคม ตั้งเป้าเพื่อพัฒนาวาระแห่งชาติของสิงคโปร์ในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน

เสาหลักทั้ง 5 ภายใต้ Green Plan ครอบคลุมเป้าหมายเกือบทุกมิติ ได้แก่ 1) เมืองในธรรมชาติ เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มการปลูกต้นไม้ และสวนสาธารณะ 2) การดำรงชีวิตที่ยั่งยืน มุ่งลดขยะและการใช้น้ำ รวมถึงเพิ่มการใช้ขนส่งสาธารณะและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากสถานศึกษา

3) รีเซ็ตพลังงาน ใช้พลังงานสะอาดและใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งระหว่างประเทศ 4) เศรษฐกิจสีเขียว เป็นศูนย์กลางทางการเงินสีเขียวของเอเชียเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยคาร์บอนต่ำและอนาคตยั่งยืน และ 5) อนาคตที่ยืดหยุ่น ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและเพิ่มการผลิตอาหารในประเทศ

สิงคโปร์มีการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น การลดจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคลและการใช้ก๊าซธรรมชาติแทนน้ำมันในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ อย่างไรก็ดี ในการใช้พลังงานทดแทนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานไฟฟ้าในระดับประเทศนั้นมีข้อจำกัดจากขนาดพื้นที่ของประเทศ

นอกจากนี้ ธนาคารกลางสิงคโปร์ยังได้จัดตั้ง ESG Impact Hub เพื่อกระตุ้นความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) รวมถึงเสริมสร้างระบบนิเวศ ESG ของฟินเทคสตาร์ทอัพ สถาบันการเงิน และผู้มีส่วนได้เสีย โดยศูนย์นี้จะเป็นกลไกส่งเสริมสนับสนุนการเงินสีเขียว (green finance) และระบบนิเวศ ESG ของประเทศ

ความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องและการมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนส่งสิงคโปร์ขึ้นเป็นอันดับ 35 ของโลก หรืออันดับ 4 ของเอเชีย-แปซิฟิก ในการจัดอันดับเมืองยั่งยืนจาก 100 เมืองทั่วโลกปี 2565 โดย Arcadis และเป็นประเทศอันดับ 1 ของเอเชีย-แปซิฟิกในการจัดอันดับดัชนีการนำพาเมืองอย่างยั่งยืนในเอเปคโดย Knight Frank

ปัจจุบันทั่วโลกต่างมุ่งไปสู่จุดหมายเดียวกันในลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อจำกัดการเพิ่มของอุณหภูมิโลก การขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและการพัฒนาสีเขียวเป็นวาระแห่งชาติและแห่งโลกที่เพื่อประโยชน์ร่วมกันของประชาคมโลก นานาประเทศต่างขับเคลื่อนแผน ยุทธศาสตร์ และนโยบายต่าง ๆ ที่จะผลักดันวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงบรรลุเป้าประสงค์ตามความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

การผลักดันของสิงคโปร์เป็นหนึ่งในกรณีที่น่ามองเป็นโมเดลของการขับเคลื่อนองคาพยพของทั้งประเทศเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันอย่างบูรณาการ ภายใต้ความร่วมมือของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไปที่สามารถมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาสีเขียวอย่างยั่งยืนนี้ไปพร้อมกัน

ผู้เขียน
ภัชชา ธำรงอาจริยกุล
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12276 วันพุธที่ 21 ธันวาคม 2565
หน้า 8 (ล่าง) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 2407 facebook twitter mail
Top