บทความวิชาการ
view 492 facebook twitter mail

South-East Asia เผชิญความท้าทายบรรลุ SDGs 2030

เกี่ยวกับเอกสาร

นับตั้งแต่ปี 2015 ที่สมาชิกสหประชาชาติได้ร่วมลงนามรับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) หรือ SDGs ซึ่งประกอบด้วยเป้าหมายความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญความท้าทายสำคัญในการบรรลุเป้าหมาย SDGs ภายในปี 2030

รายงาน Asia and the Pacific SDG Progress Report 2022 โดย UN ESCAP กล่าวว่า ทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและอนุภูมิภาคทั้งหมดอาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย SDG ทั้ง 17 ข้อ ภายในปี 2030 โดยเฉพาะ SDG ข้อที่ 12 “การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน” ซึ่งทุกอนุภูมิภาคในเอเชียแปซิฟิกรวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีศักยภาพแย่ลงในการบรรลุเป้าหมายนี้

อุปสรรคสำคัญของการบรรลุ SDG ในภาพรวมคือ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงไม่จบสิ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีผลมาจากสภาวะโลกร้อน มีการคาดการณ์ว่าเป้าหมาย SDG อาจบรรลุได้จริงภายในปี 2065 แต่ไม่ใช่ปี 2030 ตามแผนเดิม

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีพัฒนาการที่ดีใน SDG ข้อที่ 1 “การขจัดความยากจน” เนื่องจากจำนวนคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนลดลง SDG 9 “โครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรมและอุตสาหกรรม” โดยเฉพาะการให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุมประชากรเกือบ 100% ในหลายประเทศ และ SDG 15 “ระบบนิเวศบนบกที่ยั่งยืน” เนื่องจากมีการขยายพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีศักยภาพทรงตัวในข้อ SDG 4 “การศึกษาที่มีคุณภาพ” ยกตัวอย่าง นักเรียนวัยประถมจำนวนมากยังขาดทักษะการอ่านและคำนวณ SDG 8 “งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ” โดยเศรษฐกิจควรถูกปรับให้ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและท้องถิ่นมากขึ้น และส่งเสริมการจ้างงานที่เป็นไปตามหลักสิทธิแรงงาน  และ SDG 17 “ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่มีความท้าทายจากการที่รัฐบาลทุกประเทศมีงบประมาณลดลง อีกทั้งกลไกความร่วมมือก็มีความซับซ้อน

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีศักยภาพถดถอยในการบรรลุ SDG จำนวน 5 ข้อ ได้แก่ SDG 13 “การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” เนื่องจากภูมิภาคได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้น SDG 12 “การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน” เนื่องจากภูมิภาคยังพึ่งพิงพลังงานจากถ่านหินสูงและใช้ Material Footprint น้อย SDG 6 “น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล” เนื่องจากมีเหตุการณ์ภัยแล้งในหลายพื้นที่ และ SDG 11 “เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน” เนื่องจากยังมีอุบัติบนถนนสูง รวมทั้งภัยพิบัติที่กระทบชุมชนต่าง ๆ

จากที่กล่าวมาข้างต้น ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควรเร่งพัฒนาการบรรลุเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม การบรรลุ SDG มีผลสำคัญต่ออนาคตของโลก ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องให้ความร่วมมือในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว อย่างไรก็ตามหน่วยงานภาครัฐคือผู้ขับเคลื่อนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายนี้ โดยการกำหนดนโยบายที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับมหภาคได้

ผู้เขียน
อรณัฐ บุปผเวส
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12236 วันพุธที่ 26 ตุลาคม 2565
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 492 facebook twitter mail
Top