เกี่ยวกับเอกสาร
ในยุคที่โลกกำลังเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกกำลังปรับตัวเข้าสู่แนวทางที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนที่ SMEs หรือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นหัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจ การเปลี่ยนผ่านสู่ห่วงโซ่คุณค่าสีเขียว (Green Value Chains หรือ GVC ) จึงเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ และรักษาความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียได้เผยแพร่รายงานเรื่อง Building Supply Chain Resilience: Insights into Greening Value Chains for ASEAN เมื่อเม.ย. 2568 มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs คิดเป็นกว่า 99% ของธุรกิจทั้งหมดในอาเซียน มีบทบาทต่อการจ้างงานมากถึง 85% รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการสร้างนวัตกรรมในประเทศกำลังพัฒนา ในบางประเทศ เช่น มาเลเซีย SMEs สร้างรายได้ถึง 40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และมีสัดส่วนการส่งออกถึง 12.2% ดังนั้นการสนับสนุน SMEs ให้สามารถเปลี่ยนผ่านสู่การดำเนินธุรกิจที่ลดการปล่อยคาร์บอนจึงเป็นกุญแจสำคัญต่อความสำเร็จของทั้งประเทศและภูมิภาค
โครงการ Greening Value Chain (GVC) ของมาเลเซีย ได้แสดงให้เห็นว่าเมื่อ SMEs ได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสม ซึ่งประกอบด้วยเครื่องมือวัดคาร์บอน การฝึกอบรม หรือเงินทุนผ่านกองทุนที่ให้กู้ระยะยาว ผู้ประกอบการจะเริ่มประเมินวัดคาร์บอนฟุตพรินต์ ปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดค่าใช้จ่าย เช่น ค่าไฟฟ้า ทั้งนี้ SMEs กว่า 30% ที่เข้าร่วมเริ่มรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีความตระหนักและความตั้งใจ แต่ SMEs ส่วนใหญ่ยังคงเผชิญกับอุปสรรคหลายด้าน เช่น ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการวัดคาร์บอน การเข้าถึงเครื่องมือหรือแนวทางที่เหมาะสมมีจำกัด การขอสินเชื่อเพื่อการเปลี่ยนผ่านยังซับซ้อน และการฝึกอบรมมักไม่ตรงกับความต้องการของแต่ละอุตสาหกรรม
การขับเคลื่อนห่วงโซ่คุณค่าสีเขียวจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน : ภาครัฐ ต้องจัดทำนโยบายและแรงจูงใจที่ชัดเจน บริษัทขนาดใหญ่ ควรส่งสัญญาณตลาด เช่น การให้คะแนนเพิ่มแก่ซัพพลายเออร์ที่ผ่านเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม SMEs ต้องเปิดรับความรู้ใหม่และพัฒนาขีดความสามารถ ธนาคารและสถาบันการเงิน ควรออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นมิตรกับ SMEs
การเงินสีเขียว : การอำนวยความสะดวกเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Transition Facility – LCTF) กองทุน LCTF ของธนาคารกลางมาเลเซีย เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วย SMEs เปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว โดยเสนออัตราดอกเบี้ยต่ำถึง 5% ต่อปี พร้อมรับประกันความเสี่ยงจาก Credit Guarantee Corporation ครอบคลุมตั้งแต่การติดตั้งโซลาร์เซลล์ ไปจนถึงการขอใบรับรองด้านความยั่งยืน
การวัดผลและผลตอบแทน : ประโยชน์จากการลดคาร์บอนที่จับต้องได้ SMEs ที่เริ่มติดตั้งระบบพลังงานสะอาด เช่น โซลาร์เซลล์ พบว่าสามารถลดค่าไฟได้มากถึง 50% ภายใน 2-3 ปี บางรายสามารถเพิ่มยอดขายกับลูกค้าในต่างประเทศได้มากถึง 15-20% เมื่อมีการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง
กรณีศึกษาและข้อมูลเชิงประจักษ์ : โครงการ GVC ได้เชิญบริษัท Pantas ซึ่งพัฒนาแพลตฟอร์มวัดคาร์บอนมาร่วมโครงการ โดยมี SMEs กว่า 150 รายเริ่มรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซ โดยมี 8 รายลดการปล่อยได้เฉลี่ย 9% การมีข้อมูลเชิงตัวเลขช่วยให้ SMEs ตัดสินใจลงทุนในเทคโนโลยีสะอาดอย่างแม่นยำขึ้น
อาเซียนควรประสานนโยบายทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคโดยการสร้าง ASEAN Green Finance Taxonomy การยกระดับการฝึกอบรม SMEs ทั่วภูมิภาค และการสร้างกลไกจัดซื้อจัดจ้างที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมจะช่วยกระตุ้นตลาด และยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้การสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน การออกแบบนโยบายที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละอุตสาหกรรมและสามารถปฏิบัติได้จริง มีเครื่องมือสนับสนุนและแรงจูงใจที่เหมาะสมและชัดเจนจะช่วยให้ SMEs กลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนภูมิภาคอาเซียนสู่ความยั่งยืนและมั่นคงในระยะยาว
ผู้เขียน
วิมล ปั้นคง
รองผู้อำนวยการ (วิชาการ)
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 38 ฉบับที่ 12901 วันพุธที่ 14 พฤษภาคม 2568
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”