บทความวิชาการ
view 1314 facebook twitter mail

การขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างไทยและเพื่อนบ้าน

เกี่ยวกับเอกสาร

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียได้ร่วมกับ 6 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย เมียนมา สปป.ลาว เวียดนาม กัมพูชา และจีน (มณฑลยูนนาน และมณฑลกวางสี) จัดตั้งกลุ่มความร่วมมือในอนุภมูิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การขนส่ง และอื่น ๆ โดยอาศัยโอกาสจากเส้นทางที่เชื่อมต่อแต่ละประเทศเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันที่เรียกว่า

ระเบียงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Economic Corridors) ประกอบด้วยทั้งสิ้น 9 เส้นทางสามารถช่วยย่นระยะเวลาการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในกลุ่มลงได้มาก เช่น ระยะเวลาขนส่งสินค้าจากกรุงเทพฯ ไปมณฑลยูนนานของจีนลดลงถึง 30-60%

 อย่างไรก็ตามเนื่องจากประสิทธิภาพการขนส่งมิได้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนหรือสะพานข้ามแม่น้ำเท่านั้น  แต่ยังต้องอาศัยกฎระเบียบการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนที่มีความสะดวกมากขึ้น เพื่อลดความซ้ำซ้อน และลดขั้นตอนยุ่งยากลงจากที่เป็นอยู่ จึงเกิดเป็นความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภมูิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งประกอบด้วยภาคผนวกและพิธีสารจำนวน 20 ฉบับ

พิธีสารภายใต้ความตกลงการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงประกอบด้วย (1) การอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ (2) การตรวจปล่อยสินค้าบริเวณเดียวกัน (Single Stop Inspection) และการตรวจสินค้าแบบเบ็ดเสร็จ (3) การรวมระบบที่เกี่ยวข้องของประเทศในกลุ่มเข้าด้วยกัน เช่น ระบบศุลกากร ระบบตรวจคนเข้าเมือง และระบบตรวจสอบความปลอดภัยและมาตรฐานสินค้า เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินการลง

(4) การแลกเปลี่ยนสิทธิด้านการจราจร โดยอนุญาตให้รถยนต์ของประเทศในกลุ่มสามารถเข้ามารับส่งสินค้าในประเทศ (5) การอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน (Transit) เช่น การตรวจสินค้าผ่านแดนเท่าที่จำเป็นตามหลัก Single Stop Inspection และการไม่เก็บภาษีสินค้าผ่านแดน และ (6) การอำนวยความสะดวกการข้ามพรมแดนของบุคคล

ปัจจุบันมี 4 ประเทศ ได้แก่ จีน กัมพูชา สปป .ลาว และเวียดนาม ที่ลงนามในภาคผนวกและพิธิสาร ของ GMS CBTA ครบทั้ง 20 ฉบับแล้ว ขณะที่ไทยลงนามไปแล้ว 11 ฉบับ ส่วนเมียนมาให้คำมั่นจะลงนามครบทั้ง 20 ฉบับ เมื่อความตกลงการขนส่งข้ามพรมแดนดังกล่าวพร้อมบังคับใช้จะช่วยให้การขนส่งสินค้าและการเดินทางของประชาชนระหว่างประเทศในกลุ่มมีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้นเพิ่มโอกาสทางการค้า การลงทุน รวมถึงธุรกิจโลจิสติกส์

การใช้ประโยชน์ความตกลงขนส่งข้ามพรมแดนในปัจจุบันยังเป็นไปอย่างล่าช้าเนื่องจากติดขัดข้อกฎหมายภายในประเทศสมาชิกและข้อจำกัดอื่น ๆ เช่น กฎหมายไทยไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรต่างชาติเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในด่านศุลกากรของไทย กฎหมายจีนไม่อนุญาตให้รถยนต์ต่างชาติเข้ามาขนส่งภายในประเทศ กฎหมายเวียดนามจำกัดความเร็วของรถยนต์ไว้ที่ 40-50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เวลาในการเปิด/ปิดด่านศุลกากรของแต่ละประเทศไม่ตรงกัน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นยังขาดความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงาน เอกสารที่เกี่ยวข้องยังไม่เป็นภาษาสากล และช่องทางการเดินรถของแต่ละประเทศแตกต่างกันแม้การบังคับใช้ข้อตกลงเต็มรูปแบบอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ผู้ประกอบการไม่ควรละเลยความสำคัญของความตกลงด้านการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภุมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพราะจะทำให้เสียโอกาสในการเจาะตลาดหรือลดต้นทุนขนส่งสินค้าจากการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

ผู้เขียน
วิมล ปั้นคง
รองผู้อำนวยการ (วิชาการ)
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12561 วันพุธที่ 24 มกราคม 2567
หน้า 8 (ล่างขวา) คอลัมน์ “Insight ASEAN”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top