บทความวิชาการ
view 380 facebook twitter mail

‘ตลาดงานสีเขียว’ ในอาเซียน

เกี่ยวกับเอกสาร

ปัญหาภาวะโลกเดือดในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเราทุกคน เห็นได้ชัดจากที่อุณหภูมิโลกในช่วงหน้าร้อนของปีนี้ ปี 2024 สูงมากเป็นประวัติการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน และมีการคาดการณ์ว่าจะสูงมากขึ้นอีกในระยะ 5 ปีข้างหน้า ดังนั้นจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่หลายประเทศเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

            อาเซียนมุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการคุ้มครองทางสังคมประชากรอาเซียนทุกช่วงวัยรวมถึงกลุ่มเปราะบาง และมุ่งพัฒนากำลังแรงงานในอาเซียนให้รองรับงานสีเขียว (Green Jobs) ตามสาระสำคัญของปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการเจริญเติบโตอย่างเท่าเทียมและทุกคนมีส่วนร่วมของประชาคมอาเซียน ตั้งแต่ปี 2018 และดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง

            ปฏิญญาดังกล่าวถือเป็นการประกาศเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกอาเซียนที่ต้องการส่งเสริมการมีงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ “Green Jobs” เพื่อความเสมอภาคและการเติบโตที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนของสังคม สะท้อนถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและการสร้างงานที่สนับสนุนให้มีการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม งานที่ช่วยลดการปล่อยมลพิษ การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และการสร้างเศรษฐกิจที่มีฐานะมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน 

โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการมีงานที่ช่วยให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพื่อสนับสนุนให้มีการลงทุนและนวัตกรรมในเทคโนโลยีสีเขียว ซึ่งจะช่วยเพิ่มการจ้างงานและสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการพัฒนาที่ยั่งยืน

ล่าสุด กระทรวงทรัพยากรมนุษย์ของมาเลเซียได้จัดการประชุม ASEAN Green Jobs Forum 2024 เมื่อวันที่ 24-25 เม.ย. 67 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนางานสีเขียว ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการการพัฒนาเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืนในภูมิภาค รวมทั้งเพื่อส่งเสริมการเติบโตของอาเซียนต่อการพัฒนาแรงงานเพื่อรองรับงานสีเขียวจากพื้นฐานความมุ่งมั่นของรัฐบาลในภูมิภาคต่อความยั่งยืน ตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีสีเขียว

ตำแหน่งงานสีเขียวที่จะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในปี 2024 เช่น วิศวกรพลังงานหมุนเวียน สถาปนิกสีเขียว นักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน เพื่อพัฒนาและดำเนินการตามนโยบายและแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนในองค์กรต่าง ๆ ผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งยั่งยืน นักวิทยาศาสตร์การเกษตรยั่งยืน วิศวกรระบบการจัดการของเสีย ผู้วิเคราะห์นโยบายด้านพลังงานที่สนับสนุนการใช้พลังงานที่ยั่งยืนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงเจ้าหน้าที่ด้านการศึกษาสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความตระหนักและเพิ่มความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้กับสาธารณชน

ดังนั้นเพื่อเตรียมตัวสำหรับอาเซียนในงานสีเขียว ภาครัฐควรส่งเสริมการศึกษาและการฝึกอาชีพทางเทคนิค และการพัฒนาทักษะเกี่ยวกับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในอาเซียน เช่น หลักสูตรวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งพัฒนาทักษะที่จำเป็น นอกเหนือจากการศึกษาด้านวิชาการแล้ว บุคคลยังจำเป็นต้องพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับงานสีเขียว เช่น ทักษะด้านเทคนิค ความสามารถในการแก้ปัญหา และการสื่อสาร

นอกจากนั้นควรสนับสนุนให้มีการฝึกงาน การทำงานอาสาสมัคร และโครงการอื่นเพื่อช่วยให้บุคคลได้รับประสบการณ์ที่จำเป็นเพื่อเตรียมตัวสำหรับงานสีเขียว และสร้างเครือข่ายกับผู้เชี่ยวชาญในภาคส่วนสีเขียวเพื่อช่วยให้บุคคลเข้าถึงโอกาสในการทำงานและการพัฒนาอาชีพงานสีเขียวเป็นสาขาอาชีพใหม่ในการพัฒนากำลังแรงงานในอาเซียน และกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเพื่อรองรับการพัฒนาที่มุ่งสู่การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืน

ผู้เขียน
น้ำผึ้ง ทัศนัยพิทักษ์กุล
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12636 วันพุธที่ 8 พฤษภาคม 2567
หน้า 8 (ล่างซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top