บทความวิชาการ
view 525 facebook twitter mail

ประชาคมดิจิทัลอาเซียน

เกี่ยวกับเอกสาร

ตลอดปี 2566 การดำเนินงานด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนมีความเคลื่อนไหวเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เมื่อต้นเดือน ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา อาเซียนได้จัดประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 23 ณ กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย โดยที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบและรับรองผลการดำเนินงานเพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

พร้อมทั้งได้ประกาศเริ่มต้นการเจรจาความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนอย่างเป็นทางการ โดยคณะกรรมการประสานงานด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนได้กำหนดกรอบเริ่มเจรจารอบแรกในเดือน พ.ย. 2566 และตั้งเป้าสรุปผลภายใน 2 ปีนับจากนี้

ความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนมุ่งเน้นให้การค้าดิจิทัลในภูมิภาคเชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อ มีกรอบกติกาด้านการค้าดิจิทัลให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งให้มีความปลอดภัยในการทำธุรกรรมด้านดิจิทัลระหว่างกัน เพื่อเสริมศักยภาพเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค เพื่อให้สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น

ปัจจุบันภูมิภาคอาเซียนเป็นตลาดการค้าดิจิทัลที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ด้วยมีประชากรที่ใช้สมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก รายงานของ ERIA เรื่อง ASEAN Digital Community 2045 ได้กล่าวว่า ภายในปี 2568 การค้าดิจิทัลของอาเซียนจะมีสูงมากถึง 360 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10% ของการค้าดิจิทัลทั่วโลกภายในปี 2573

แม้ว่ากลไกการดำเนินงานเพื่อก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนจะคืบหน้ามากขึ้น แต่การดำเนินงานยังมีข้อจำกัดในการนำไปปฏิบัติ เนื่องจากส่วนใหญ่ยังไม่มีกลไกการบังคับใช้ที่ชัดเจน ข้อตกลงยังไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ส่งผลต่อการระบุผู้มีหน้าที่รับผิดชอบและความโปร่งใสในการดำเนินการ รวมถึงความต่อเนื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในอาเซียน

ประกอบกับการพัฒนาให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบันนั้น ไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงด้านความมั่นคงทางการเมืองสังคมและวัฒนธรรมด้วย

ดังนั้นในรายงานของ ERIA ดังกล่าว มีข้อเสนอให้อาเซียนดำเนินการเพื่อมุ่งสู่การเป็นประชาคมดิจิทัลอาเซียนในปี 2588 โดยต้องดำเนินการทั้งการกำกับดูแลข้อมูล การปรับปรุงด้านกฎระเบียบของอาเซียนให้ทันกับยุคดิจิทัลที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว มาตรฐานความปลอดภัยในการคุ้มครองข้อมูล เป็นต้น การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยมุ่งเน้นที่การเพิ่มมูลค่า ลดต้นทุน สร้างนวัตกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ปรับปรุงคุณภาพและการเข้าถึงบริการ ครอบคลุมถึงเทคโนโลยีในตลาดด้านสุขภาพและการแพทย์

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ ถนน ท่าเรือ ทางรถไฟ สนามบิน โรงไฟฟ้า และศูนย์กลางการขนส่ง และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาการเข้าถึงบรอดแบนด์ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ศูนย์ข้อมูล และเครือข่ายสมัยใหม่ ด้วยการบูรณาการระบบการชำระเงินดิจิทัลและการนำเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่ประยุกต์ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าสินค้าและบริการได้อย่างราบรื่นทั่วทั้งภูมิภาค

การเชื่อมช่องว่างทางดิจิทัล เพิ่มการมีส่วนร่วมของ MSMEs และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงดิจิทัลในภูมิภาค เนื่องจากเทคโนโลยีดิจิทัลมีศักยภาพในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ส่งเสริมการค้า สร้างงานในอาเซียน และการเข้าถึงบริการทางการเงิน

การก้าวสู่การเป็นประชาคมดิจิทัลอาเซียนได้นั้น จำเป็นต้องมีการลงทุนเชิงกลยุทธ์และการจัดสรรทรัพยากร มีกรอบการกำกับดูแลที่ยืดหยุ่น และความพยายามในการทำงานร่วมกัน เพื่อให้อาเซียนเป็นภูมิภาคสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลระดับโลก มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ผู้เขียน
น้ำผึ้ง ทัศนัยพิทักษ์กุล
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12511 วันพุธที่ 15 พฤศจิกายน 2566
หน้า 8 (ล่างขวา) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top