บทความวิชาการ

แนวโน้มผู้บริโภคอาเซียนปี 2025

เกี่ยวกับเอกสาร

ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเข้าใจแนวโน้มผู้บริโภคถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถคาดการณ์ความต้องการของลูกค้า และตอบสนองต่อความต้องการเหล่านั้นได้อย่างตรงจุด โดยแนวโน้มเหล่านี้ไม่เพียงแต่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมและวิถีชีวิตของผู้บริโภค แต่ยังเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่เป็นกุญแจสำคัญสำหรับการพัฒนาธุรกิจในอนาคต

ภูมิภาคอาเซียนเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียที่มีพลวัตสูง แนวโน้มผู้บริโภคในปี 2025 จะเปิดโอกาสให้ธุรกิจในอาเซียนสามารถปรับกลยุทธ์และสร้างนวัตกรรม เพื่อรองรับความต้องการที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ซึ่งรวมถึงการตอบสนองต่อความคาดหวังที่สูงขึ้นของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

จากรายงาน Euromonitor (2024) กล่าวว่าเบื้องหลังการตัดสินใจบริโภคมีหลายปัจจัยที่เชื่อมโยงและส่งผลต่อการกำหนดอนาคตของการบริโภค ทั้งสภาพทางเศรษฐกิจ เช่น ค่าครองชีพที่สูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางประชากรที่มีผลต่อความต้องการสินค้าสุขภาพ เช่น การเข้าสู่สังคมสูงอายุ การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบครัวเรือน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นครัวเรือนที่อาศัยเพียงคนเดียวเพิ่มมากขึ้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่าง AI IoT และบล็อกเชน กำลังเปลี่ยนแปลงการบริโภคของผู้คน นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงในค่านิยมของผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคยุคใหม่มีการบริโภคที่มีจิตสำนึกมากขึ้น เช่น การเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือสนับสนุนแบรนด์ที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม

 โดยคาดการณ์แนวโน้มผู้บริโภคระดับโลกมีทั้งหมด 6 เทรนด์ที่ธุรกิจควรให้ความสำคัญในปี 2025 ได้แก่ เทรนด์ Healthspan Plans ผู้บริโภคมุ่งเน้นการดูแลสุขภาพระยะยาวมากขึ้น โดยใช้วิธีป้องกันและการรักษาที่เฉพาะเจาะจง ปัจจัยจากการสูงวัยของประชากรและเทคโนโลยีช่วยขับเคลื่อนแนวโน้มนี้ โดยเฉพาะในกลุ่ม Gen Z และ Millennials ที่ใช้เทคโนโลยีติดตามสุขภาพและสร้างพื้นฐานการดูแลสุขภาพที่ดี

ถัดมาเป็น เทรนด์ Wiser Wallets โดยเป็นแนวโน้มที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าของกับสิ่งที่จ่ายไป โดยคำนึงถึงทั้งความต้องการในปัจจุบันและความจำเป็นในอนาคต ผู้บริโภคในปัจจุบันมีแนวคิดเชิงกลยุทธ์ในการซื้อสินค้า ธุรกิจจึงควรตอบสนองด้วยโซลูชันที่ให้ประโยชน์ชัดเจนและมีสิ่งจูงใจที่จับต้องได้ เพื่อให้ยังคงเป็นที่สนใจของกลุ่มเป้าหมาย

            เทรนด์ Eco Logical ผู้บริโภคยังคงสนับสนุนสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่เน้นความคุ้มค่าและประโยชน์หลักของผลิตภัณฑ์มากกว่าคุณสมบัติด้านความยั่งยืน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค พร้อมทั้งผสานคุณสมบัติที่ยั่งยืนในราคาที่เข้าถึงได้ จะช่วยกระตุ้นการเลือกซื้อสินค้ายั่งยืนได้มากขึ้น

เทรนด์ Filtered Focus ผู้บริโภคในปัจจุบันต้องเผชิญกับข้อมูลมากมาย ปัญหาหลักคือการทำให้การเข้าถึงข้อมูลเข้าใจง่ายและสะดวก ผู้บริโภคต้องการฉลากที่ชัดเจน ประสบการณ์การช้อปปิ้งที่ง่าย และบริการที่สะดวก โดยความเชื่อมั่นในแบรนด์ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญตัดสินใจบริโภคสินค้า โดยกว่า 54% ของผู้บริโภคในปี 2024 เลือกซื้อจากแบรนด์ที่ไว้วางใจเท่านั้น

            และเทรนด์ AI Ambivalent แม้ผู้บริโภคจะเห็นข้อจำกัดของ AI เช่น การสร้างข้อมูลผิดพลาด แต่ก็ยังมองเห็นประโยชน์ของ AI โดยกว่า 43% มองว่า AI เป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ธุรกิจจึงต้องใช้ AI อย่างโปร่งใสและมีจริยธรรมเพื่อสร้างความเชื่อมั่น อย่างไรก็ตามผู้บริโภคยังคงต้องการการดูแลจากมนุษย์มากกว่า AI เช่น การใช้บอทในการบริการลูกค้า โดย 19% รู้สึกสะดวกใจที่จะใช้บอทแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ในภูมิภาคอาเซียน แนวโน้มเหล่านี้มีความสำคัญต่อการพัฒนาธุรกิจ โดยเฉพาะในประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เช่น ไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ธุรกิจที่สามารถปรับตัวและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพจะมีโอกาสเติบโตอย่างมหาศาล เพื่อให้ธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนสามารถปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้เขียน
ณัฐจารีย์ เพ็ชรร่วง
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12776 วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน 2567
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top