เกี่ยวกับเอกสาร
เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นแนวคิดการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ บริการ และธุรกิจรูปแบบใหม่ ที่ส่งเสริมการเติบโตทางธุรกิจควบคู่ไปกับความยั่งยืน โดยเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านการนำทรัพยากรหรือวัสดุต่างๆ กลับเข้าสู่กระบวนการใช้อีกครั้ง ซึ่งช่วยลดของเสียที่เกิดขึ้น และมีเป้าหมายสูงสุดคือการขจัดของเสียให้หมดไปในที่สุด แนวทางนี้แตกต่างจากเศรษฐกิจแบบเส้นตรงที่เป็นแบบดั้งเดิม ซึ่งมีลักษณะ ‘นำทรัพยากรมาใช้-ผลิต-บริโภค-แล้วทิ้ง’ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีหลายประเทศที่เริ่มนำกฎระเบียบเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนมาบังคับใช้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนระดับโลก ก่อให้เกิดผลกระทบหลายประการ จากการประชุม World Economic Forum (2025) ชี้ให้เห็น ได้แก่ (1) ผลกระทบด้านการจ้างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการผลิตสินค้าใหม่เป็นหลัก เช่น อุตสาหกรรมแฟชั่น ซึ่งอาจเผชิญกับการลดลงของความต้องการแรงงาน (2) รายได้จากการส่งออกที่อาจลดลง โดยเฉพาะสำหรับประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกสินค้าที่ผลิตขึ้นใหม่เป็นหลัก เนื่องจากแนวโน้มการนำทรัพยากรกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่จะลดความต้องการสินค้าใหม่ลง (3) การสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน (4) การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนต้องอาศัยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการปรับห่วงโซ่อุปทาน และ (5) ช่องว่างทักษะและการเปลี่ยนแปลงกำลังแรงงาน
ในบริบทของอาเซียน ได้มีการกำหนด “กรอบการทำงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” โดยได้กำหนดกรอบวิสัยทัศน์ เพื่อต่อยอดจากจุดแข็งและโครงการเดิมของอาเซียน พร้อมทั้งระบุประเด็นสำคัญลำดับต้น ๆ ที่ต้องดำเนินการ รวมถึงปัจจัยสนับสนุนที่จำเป็น เพื่อเร่งรัดการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีเป้าหมายเชิงกลยุทธ์หลัก 3 ประการ คือ การสร้างเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่น การบรรลุการเติบโตที่ยั่งยืน และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร
อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์และกรอบการทำงานให้เกิดผลในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSMEs) ยังคงเผชิญกับความท้าทายใหญ่ เนื่องจาก MSMEs จำนวนมากในอาเซียนยังคงประสบปัญหาขาดความสามารถในการแข่งขันและการเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าระดับโลก จากข้อจำกัดด้านขนาด ทรัพยากร ทักษะ การเข้าถึงข้อมูล และต้นทุนในการปฏิบัติตามมาตรฐานต่าง ๆ
เมื่อพิจารณามิติการปรับตัวสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน สถานการณ์ของ MSMEs จากรายงานของ ASEAN (2025) ชี้ให้เห็นว่า MSMEs กว่า 57% มีความคุ้นเคยกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว แต่บางส่วนประมาณ 43% ที่ยังเข้าใจแนวคิดนี้อย่างจำกัด โดยเฉพาะผู้ประกอบการในอินโดนีเซียและมาเลเซียที่ตอบว่าไม่คุ้นเคยกับเศรษฐกิจหมุนเวียนในสัดส่วนที่สูง และเมื่อจำแนกตามภาคส่วนที่เข้าร่วม ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม แสดงความคุ้นเคยกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมากที่สุด
ยิ่งไปกว่านั้น MSMEs ยังเผชิญกับความท้าทายเฉพาะด้านในการนำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ในธุรกิจ โดยพบว่า MSMEs ยังขาดความตระหนักรู้และความช่วยเหลือทางเทคนิคเชิงลึกที่เพียงพอ ความพอใจของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์หมุนเวียนที่ยังอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากราคาที่สูงกว่าและยังคงคุ้นชินกับสินค้าใช้แล้วทิ้ง ต้นทุนการเปลี่ยนผ่านที่สูงทั้งด้านเทคโนโลยีและการลงทุนเริ่มต้น ซึ่งเป็นแรงกดดันหนักสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก อุปสรรคด้านกฎระเบียบที่ยังไม่เอื้ออำนวย และความซับซ้อนของห่วงโซ่อุปทานที่ต้องคำนึงถึง
แม้เศรษฐกิจหมุนเวียนจะได้รับการยอมรับว่าเป็นแนวทางสำคัญในการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ในทางปฏิบัติ MSMEs ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ยังคงเผชิญข้อจำกัดและความท้าทายในการปรับตัวสู่ระบบเศรษฐกิจดังกล่าว ความท้าทายเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบและบูรณาการ โดยการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยี เงินทุน และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างขีดความสามารถของ MSMEs อันจะนำไปสู่การสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรม
ผู้เขียน
ณัฐจารีย์ เพ็ชรร่วง
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 38 ฉบับที่ 12891 วันพุธที่ 30 เมษายน 2568
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”