บทความวิชาการ
view 522 facebook twitter mail

การลงทุนพัฒนา ‘พลังงาน’ ที่ยั่งยืน

เกี่ยวกับเอกสาร

รายงานการลงทุนโลกประจำปี 2566 (World Investment Report 2023) จัดทำโดยอังค์ถัด (UNCTAD) รายงานว่าในปี 2565 แม้ว่าการลงทุนทั่วโลกโดยรวมยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอน แต่การลงทุนด้านพลังงานที่ยั่งยืนมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งยังคงมีความท้าทายสูงในด้านการปรับกฎระเบียบและการปฏิบัติ

ปี 2565 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ส่วนใหญ่กว่า 70% เป็นการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนา โดยมีโครงการลงทุนด้านพลังงานในประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นถึง 37%  การลงทุนที่เน้นความยั่งยืนยังคงฟื้นตัวได้ท่ามกลางตลาดทุนที่ผันผวน มูลค่าตลาดการเงินที่ยั่งยืนโดยรวม (พันธบัตร กองทุน และตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ) มีมูลค่ารวม 5.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2565

การลงทุนเพื่อพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนเป็นการดำเนินงานเพื่อการบรรลุเป้าหมาย SDG 7 การสร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืนในราคาที่ย่อมเยา โดยมีเป้าประสงค์หลักคือ การเข้าถึงพลังงาน การเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน (Renewable Energy) และการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน มุ่งเน้นความร่วมมือระหว่างประเทศในการเข้าถึงการวิจัยและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด และโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีในการจัดส่งบริการพลังงานในประเทศกำลังพัฒนา

รายงานการลงทุนโลกฉบับนี้ได้กล่าวถึงบทบาทภาคการเงินที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาด้านพลังงานที่ยั่งยืน โดยเฉพาะในประเทศอาเซียน เช่น การสนับสนุนด้านการเงินของธนาคารเพื่อการพัฒนาแบบพหุภาคี (MDB) กรณีธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ที่ให้คำปรึกษา จัดหาเงินกู้ ระดมเงินทุน เพื่อลงทุนอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลมในจังหวัดกว๋างจิ เวียดนาม ตั้งแต่ปี 2564 ด้วยเวียดนามมีศักยภาพในการพัฒนาไฟฟ้าพลังงานลมทั้งในและนอกชายฝั่ง

พลังงานหมุนเวียนและการส่งออกไฟฟ้ามีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของสปป.ลาว โดยในปี 2564 ปริมาณกำลังการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานน้ำประมาณ 80% มาจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ซึ่งบริษัทข้ามชาติ (MNE) เป็นเจ้าของโครงการผลิตไฟฟ้ามากกว่า 80% ของโรงไฟฟ้า 90 แห่งในสปป.ลาว  สถาบันการเงินระหว่างประเทศรวมทั้งธนาคารมีส่วนร่วมเป็นอย่างมากในการสนับสนุนโครงการเงินกู้ระหว่างประเทศ ส่งผลให้สปป.ลาวเป็นประเทศผู้ส่งออกไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในบรรดาประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนที่สุด

การส่งออกไฟฟ้าของสปป.ลาวสร้างรายได้มากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 คิดเป็นมากกว่า 15% ของ GDP ประเทศ ทั้งนี้ประมาณ 65% ของกำลังการผลิตทั้งหมดนั้นส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านภายใต้สัญญาการซื้อขายไฟฟ้าและข้อตกลงสัมปทาน  โครงการเชื่อมโยงระบบสายส่งกระแสไฟฟ้าในอาเซียน (ASEAN Power Grid) ยังมีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งออกพลังงานหมุนเวียนจากสปป.ลาวไปยังสิงคโปร์ผ่านสายส่งไฟฟ้าของไทยและมาเลเซีย

มาเลเซียมีโครงการสนับสนุนการออกพันธบัตรสีเขียว ได้แก่ Sustainable and Responsible Investment (SRI) Sukuk and Bond Grant Scheme ซึ่งเป็นโครงการออกพันธบัตรเพื่อการลงทุนด้านพลังงานที่ยั่งยืน  เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2561 และขยายระยะเวลาจนถึงสิ้นปี 2568 เพื่อสร้างแรงจูงใจให้มีการระดมทุนเพื่อใช้ในโครงการที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

การบรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ ทั้งการกำหนดนโยบายโดยภาครัฐ ความร่วมมือของภาคเอกชน ภาคการเงินยังมีบทบาทในการผลักดันและขับเคลื่อนกลยุทธ์ กลไกดำเนินงานด้านการลงทุนพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นด้วย

เนื่องจากประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของโลกได้เริ่มนำมาตรการทางค้าที่มิใช่ภาษีด้านสิ่งแวดล้อมมาบังคับใช้เป็นเงื่อนไขในการนำเข้าสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนา ภาคพลังงานจึงถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของห่วงโซ่อุปทานที่ต้องเร่งปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานสีเขียวมากขึ้น

ผู้เขียน
น้ำผึ้ง ทัศนัยพิทักษ์กุล
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12431 วันพุธที่ 26 กรกฎาคม 2566
หน้า 8 (ล่าง) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top