บทความวิชาการ
view 689 facebook twitter mail

พัฒนา ‘สินค้าสร้างสรรค์’ ไทยเชื่อมโยงเพื่อนบ้าน

เกี่ยวกับเอกสาร

การค้าชายแดนระหว่างประเทศไทยกับสปป.ลาว มีหลายจุดผ่านแดน ที่สำคัญคือ ด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 1 เชื่อมระหว่างจังหวัดหนองคาย ประเทศไทย กับ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว โดยผ่านด่านศุลกากรจังหวัดหนองคา   จังหวัดหนองคายยังมีบทบาทและศักยภาพสูงทางด้านการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากสามารถรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจการค้า และการลงทุน รวมทั้งอำนวยความสะดวกแก่นักธุรกิจผู้ส่งออกสินค้าไปยัง สปป.ลาว ต่อไปยังเวียดนาม และจีนตอนใต้ได้ รวมทั้งระบบการค้าในจังหวัดหนองคายยังสามารถให้บริการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (One Stop Service) ณ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แก่นักธุรกิจผู้ส่งออกและนำเข้าได้สะดวกรวดเร็ว โดยหนองคายมีวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาจังหวัดให้เป็นประตูสู่อินโดจีน (Gate Way) อย่างแท้จริงในอนาคต

อย่างไรก็ตาม พบว่าในจังหวัดหนองคายยังไม่มีการผลิตหลัก และเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยซึ่งถือว่าเป็นภาคที่ประชาชนยากจนที่สุด และมีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยยังไม่สามารถก้าวออกจากประเทศในกลุ่มกับดักรายได้ปานกลาง  ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการยกระดับผลิตภาพการผลิต (Productivity) ของประเทศ แนวทางที่สำคัญ ได้แก่ 

  1. พยายามปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้นหรือยกระดับเทคโนโลยี (Technological Upgrade)
  2. พยายามเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Enhancing Labor Productivity) จากการพัฒนาทุนมนุษย์ รวมไปถึง
  3. พยายามใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงในภูมิภาค (Utilizing Connectivity)

 การส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมในทุกประเทศทั่วโลก (โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา) คือ การให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยใช้เศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นตัวขับเคลื่อน (Creative-Driven Economy) ซึ่งที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development: UNCTAD) ได้ให้นิยามว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ แนวทางการพัฒนาและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจากรากฐานของแต่ละท้องถิ่น โดยหัวใจของเศรษฐกิจสร้างสรรค์คือ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries) ที่บูรณาการทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ภูมิปัญญา และนวัตกรรม และได้นิยาม “สินค้าสร้างสรรค์” (Creative Goods) ว่าคือ สินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์เชิงวัฒนธรรม อันได้แก่ งานศิลป์ ดนตรี วรรณกรรม ภาพยนตร์ ฯลฯ ซึ่งเป็นผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้ โดยด้วยแนวคิดดังกล่าว UNCTAD ได้จำแนกประเภทอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไว้ 4 ประเภท ได้แก่ สินทรัพย์หรือมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ (Heritage) ศิลปะ (Arts) สื่อสมัยใหม่ (Media) และงานผลิตสินค้าและบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า (Functional Creations) 

การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในท้องถิ่นผ่านระบบการขับเคลื่อนด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ (Creative Rural Enterprise) ในจังหวัดชายแดนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดหนองคาย เพื่อให้เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว จะเป็นการส่งเสริมโอกาสการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยเน้นการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ในจังหวัดหนองคาย นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินนโยบายที่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการชุมชนและช่วยเหลือให้ตรงจุด เพื่อนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ทางธุรกิจอย่างแท้จริง ต้องประสานการทำงานให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริม SMEs ให้ผลิตสินค้าเชิงสร้างสรรค์ สร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้า และเชื่อมโยงการค้าการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นได้ประโยชน์จากการเติบโตของตลาดประเทศเพื่อนบ้านโดยพัฒนาการผลิตและการตลาดข้ามพรมแดนบนพื้นฐานของการได้ประโยชน์และการไว้วางใจกัน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกัน 

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top