บทความวิชาการ
view 4078 facebook twitter mail

ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ‘จีน’ ต่ออาเซียน

เกี่ยวกับเอกสาร

จีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก (ไม่พิจารณาสหภาพยุโรป) มีประชากรมากเป็นอัน 1 ของโลก ในปี 2564 จีนเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับ 2 ของโลก และเป็นประเทศผู้นำเข้าอันดับ 1 ของโลก  จีนถือเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอาเซียนทั้งด้านการค้าระหว่างประเทศและการลงทุน รวมทั้งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดด้านสังคมและวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงของจีนจึงส่งผลกระทบต่ออาเซียนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

รายงานการคาดการณ์เศรษฐกิจของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียซึ่งเผยแพร่เมื่อกรกฎาคม 2565 ได้ประมาณการณ์ว่าเศรษฐกิจจีน ปี 2565 จะขยายตัวประมาณ 4% ซึ่งเป็นการคาดการณ์ในอัตราที่ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เศรษฐกิจจีนขยายตัวที่ระดับอัตราเฉลี่ย 6% ในรอบประมาณเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา 

รายงานฉบับนี้ให้เหตุผลจีนว่ายังคลัสเตอร์การระบาดของโควิด-19 ในเมืองใหญ่จึงส่งผลให้รัฐบาลจีนยังคงใช้นโยบายการควบคุมโควิดอย่างเข้มงวด ส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุน โดยยอดการค้าปลีกช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 หดตัว 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและโรงงานปรับตัวลดลง แต่การลงทุนในสินทรัพย์คงที่เพิ่มขึ้น 6.2%  ขณะที่การค้าระหว่างประเทศปรับตัวดีขึ้น โดยช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 มูลค่าการส่งออกของจีนเพิ่มขึ้น 13.3% มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 7.5% ตลาดที่จีนสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นได้แก่ ตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรป รวมทั้งตลาดประเทศสมาชิกอาเซียน 

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียประเมินว่า การประกาศล็อกดาวน์ของรัฐบาลจีนส่งผลให้การบริโภคของประชาชนลดลงค่อนข้างมาก  นอกจากนั้นประเด็นอ่อนไหวสำคัญของเศรษฐกิจจีน คือ ภาวะความไม่มีเสถียรภาพของตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยราคาบ้านเฉลี่ยใน 70 เมืองใหญ่ของจีนปรับตัวลดลง 0.8% ในเดือนพฤษภาคม 2565 แม้อัตราดอกเบี้ยจำนองบ้านได้ปรับตัวลดลงแต่การซื้อขายก็ไม่คึกคัก เพราะชาวจีนรุ่นใหม่ยังไม่สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ  

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงจากแรงกดดันจากสงครามการค้าและเทคโนโลยีกับสหรัฐฯ ส่งผลให้การส่งออกสินค้าจีนไปยังตลาดสหรัฐฯ ลดลง นอกจากนั้นนโยบายถอนการลงทุนของนักลงทุนสหรัฐฯ กลับประเทศเพราะมาตรการจูงใจให้เอกชนสหรัฐฯ ลงทุนในประเทศสหรัฐฯ เพื่อเพิ่มการจ้างงาน ได้ส่งผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในจีน ผลกระทบจากมาตรการเหล่านี้ส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนลดลง โดยปี 2563 เศรษฐกิจลดจีนขยายตัว 2.2% และได้ปรับตัวดีขึ้นมาขยายตัว 8.1% ในปี 2564 และคาดว่าจะขยายตัว 4% ในปี 2565

เศรษฐกิจจีนมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจประเทศสมาชิกอาเซียนสูง เนื่องจากจีนเป็นทั้งตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสินค้าของประเทศสมาชิกอาเซียน  จีนยังเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในประเทศอาเซียน ภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศสมาชิกอาเซียน สินค้าที่จีนมีแนวโน้มนำเข้าลดลงได้แก่ สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ชื้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากความต้องการในประเทศมีแนวโน้มลดลง 

นอกจากนั้นภาคการท่องเที่ยวในอาเซียนซึ่งชาวจีนถือเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ก็จะได้รับผลกระทบมากขึ้น ดังนั้นในอนาคตประเทศสมาชิกอาเซียนควรค้าขายกันภายในภูมิภาคมากขึ้น รวมทั้งอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกันให้มากขึ้น

ผู้เขียน
น้ำผึ้ง ทัศนัยพิทักษ์กุล
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 35 ฉบับที่ 12196 วันพุธที่ 31 สิงหาคม 2565
หน้า 8 (ล่าง) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 4078 facebook twitter mail
Top