ประเด็นวิชาการ
view 116 facebook twitter mail

ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS)

เกี่ยวกับเอกสาร

เมื่อพูดถึง ACMECS หมายถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่บ้านเราคุ้นเคยกันดี เพราะกรอบความร่วมมือนี้มาจากประเทศสมาชิกที่แม่น้ำสายสำคัญ 3 สาย ไหลผ่าน คือ แม่น้ำอิรวดี (เมียนมา) แม่น้ำเจ้าพระยา (ไทย) และแม่น้ำโขง (ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม)  โดยมีเป้าหมายหลักคือส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน เช่น การค้าและการลงทุน การเกษตร อุตสาหกรรมและพลังงาน คมนาคม การท่องเที่ยว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม.……หากทุกคนต้องการรู้จัก ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ACMECS ให้มากกว่านี้สามารถอ่านได้ใน ITD Issues ด้านล่างนี้หรือ คลิก Link ไปยังเล่มรายงานวิจัยเพื่ออ่านเพิ่มเติม : https://www.itd.or.th/itd-data-center/itd_re-acmecs/

ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับอนุภูมิภาค ประกอบด้วย 5 ประเทศสมาชิก ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจตามแนวชายแดน อำนวยความสะดวกทางการค้า ลดช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิก สร้างการเจริญเติบโตแบบยั่งยืน และส่งเสริมการบูรณาการของอาเซียนในภาพรวม ทั้งนี้ ACMECS มีความร่วมมือทั้งหมด 8 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน การเกษตร อุตสาหกรรมและพลังงาน การเชื่อมโยงคมนาคม การท่องเที่ยว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม (กระทรวงการต่างประเทศ, 2555)

ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) เกิดขึ้นเพื่อสอดรับกับกระแสการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนทั่วโลก และกระแสการรวมกลุ่มกันของประเทศเล็กโดยเฉพาะในระดับอนุภูมิภาค เพื่อคานอำนาจประเทศใหญ่ ภายหลังปี 2534 (1991) เป็นต้นมา (Hamanaka, 2009) กรอบความร่วมมือนี้แต่เดิมเป็นความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงบริเวณจังหวัดเชียงราย (สามเหลี่ยมทองคำ) ซึ่งเรียกกันในนาม “สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ” มีสมาชิกประกอบด้วย ไทย เมียนมา และสปป.ลาว ต่อมาปี 2546 (2003) จึงเกิด “ปฏิญญาพุกาม” และเปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็น “สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ” ซึ่งประกอบด้วย ไทย เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา และในที่สุด ปี 2547 (2004) มีสมาชิกทั้งหมดครบ 5 ประเทศเป็น “ห้าเหลี่ยมเศรษฐกิจ” โดยมีเวียดนามเพิ่มมาเป็นสมาชิกลำดับที่ 5 และเรียกรวมกันว่า “ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS)” (วัลย์ลดา, 2553) ในภาพรวม กรอบความร่วมมือ ACMECS มีประชากรราว 215 ล้านคนหรือร้อยละ 43 ของประชากรทั้งหมดของอาเซียนและมีพื้นที่รวมกันประมาณ 1,906 ล้านตารางกิโลเมตร (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, 2548)

โครงสร้างการดำเนินงาน

รูปแบบการดำเนินงานของ ACMECS ประกอบไปด้วย การประชุมระดับนักการทูต (Ambassadorial Meeting) ในทุก ๆ สองเดือน ประชุมระดับคณะเจ้าหน้าที่อาวุโส (Senior Officer’s Meetings: SOM) ในทุก ๆ หกเดือน การประชุมระดับคณะทำงาน (Sectoral Working Group) ในทุก ๆ สามเดือน ซึ่งแต่ละประเทศสมาชิกรับผิดชอบยุทธศาสตร์คนละสาขา ได้แก่ ประเทศไทยรับผิดชอบด้านการค้าและการลงทุน รวมทั้งด้านสาธารณสุข เมียนมารับผิดชอบด้านการเกษตรและความร่วมมือทางอุตสาหกรรม สปป.ลาวรับผิดชอบด้านการเชื่อมโยงทางคมนาคม กัมพูชารับผิดชอบด้านการท่องเที่ยว และเวียดนามรับผิดชอบด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การประชุมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Meeting) ในทุก ๆ ปี และการประชุมระดับผู้นำ (Summit) ในทุก ๆ สองปี ทั้งนี้ ACMECS ไม่มีสำนักเลขาธิการ แต่การประชุมระดับนักการทูตโดยส่วนใหญ่จะดำเนินการในกรุงเทพฯ ประเทศไทย (De, P., Kumarasamy, D., & Pan, S, 2020)

การประชุมระดับผู้นำ ACMECS และประเด็นที่สำคัญ

ที่ผ่านมายุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) มีการประชุมระดับผู้นำ (Summit) มาแล้วทั้งสิ้น 9 ครั้ง โดยแต่ละการประชุมสุดยอดผู้นำมีประเด็นสำคัญจากการประชุม ดังต่อไปนี้

  • การประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 1 ที่เมืองพุกาม สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เมื่อปี 2546 (2003)

สำหรับการประชุมครั้งแรก ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2546 ผู้นำทั้ง 4 ประเทศ ประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และไทย ร่วมกันรับรองปฏิญญาพุกาม (Bagan Declaration) ซึ่งเป็นคำรับรองการร่วมมือกันพัฒนาใน 5 สาขา ได้แก่ การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน ความร่วมมือทางด้านเกษตรและอุตสาหกรรม การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม การท่องเที่ยว และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และมีการรับรองแผนการดำเนินงาน “Economic Cooperation Strategy Plan of Action (2003-2005)”

  • การประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 2 ที่กรุงเทพฯ ราชอาณาจักรไทย เมื่อปี 2548 (2005)

การประชุมครั้งที่สองนี้ ประเทศสมาชิกทั้ง 5 ประเทศ (ซึ่งมีเวียดนามเข้ามาเป็นประเทศสมาชิกลำดับที่ 5 เมื่อปี 2547) มีมติเพิ่มความร่วมมือด้านการพัฒนาระบบสาธารณสุข และจัดให้มีการประชุมระยะกลางเพื่อทบทวนแผนงานของผู้นำระดับสูงของอาเซียน เพื่อนำไปใช้เป็นแผนแม่บท (Plan of Action: 2006-2008)

  • การประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 3 ที่กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เมื่อปี 2551 (2008)

การประชุมครั้งที่สาม ผู้นำจากประเทศสมาชิกทั้ง 5 ประเทศได้ลงนามแถลงการณ์ร่วมด้านการส่งเสริมการค้า การลงทุน อำนวยความสะดวกในการท่องเที่ยว และการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ (Economic Connectivity) โดยเฉพาะมิติการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีข้อสรุปในการจัดตั้งคณะการทำงานด้านสิ่งแวดล้อม

  • การประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 4 ที่กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อปี 2553 (2010)

การประชุมครั้งที่สี่ ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน อุตสาหกรรม พลังงาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การคมนาคม และสิ่งแวดล้อม มีการรับรองปฏิญญาพนมเปญ ซึ่งมุ่งเน้นการให้ความร่วมมือด้านการส่งออกข้าว และมีการกำหนดแผนแม่บท (Plan of Action: 2010-2012) ในระหว่างการประชุมระดับผู้นำนี้ กัมพูชาได้เป็นเจ้าภาพในการประชุมเชิงธุรกิจครั้งที่ 2 (2nd ACMECS Business Forum) ซึ่งมีข้อสรุปในการจัดตั้ง ACMECS Business Council เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในกรอบความร่วมมือ ACMECS

  • การประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 5 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อ ปี 2556 (2013)

การประชุมครั้งที่ห้า ผู้นำประเทศสมาชิก ACMECS ได้รับรองปฏิญญาเวียงจันทน์และแผนแม่บท (Plan of Action: 2013-2015) ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเชื่อมโยงกรอบความร่วมมือ ACMECS กับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งได้รับการจัดตั้งในปี 2558 และแผนแม่บท ASEAN Masterplan on Economic Connectivity ทั้งนี้ประเทศสมาชิก ACMECS ได้มุ่งหวังให้การเชื่อมโยงการดำเนินงานระหว่าง ACMECS และ ASEAN เป็นไปเพื่อส่งเสริมบทบาทของประเทศสมาชิก ACMECS ในห่วงโซ่อุปทานโลก

  • การประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 6 ที่กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เมื่อปี 2558 (2015)

การประชุมครั้งที่หก มีการรับรองปฏิญญาเนปิดอว์และแผนแม่บท (Plan of Action: 2016-2018) โดยมีเป้าหมายหลักคือการทำให้ ACMECS เป็นผู้นำด้านการดึงดูดการลงทุนและการท่องเที่ยว และผลักดันให้ประเทศสมาชิก ACMECS มีฐานการผลิตทางอุตสาหกรรมร่วมกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดน

  • การประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 7 ที่กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เมื่อปี 2559 (2016)

ภายใต้หัวข้อ “มุ่งสู่การเป็นอนุภูมิภาคที่มีพลวัตและมั่งคั่ง” (Towards a Dynamic and Prosperous Mekong Subregion) ที่ประชุมได้รับรองปฏิญญาฮานอย (Hanoi Declaration) และร่วมกันให้คำมั่นสัญญาที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านการคมนาคม การค้าและการลงทุน อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว รวมทั้งเกษตรกรรมและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

  • การประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 8 ที่กรุงเทพฯ ราชอาณาจักรไทย เมื่อปี 2561 (2018)

ในการประชุม ACMECS ครั้งที่แปด ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในวันที่ 16 มิถุนายน 2561 ณ โรงแรมแชงกรีลา กรุงเทพฯ โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม และมีหัวข้อการประชุมคือ “การก้าวสู่ประชาคมแม่โขงที่เชื่อมโยงกัน” (Towards an Integrated and Connected Mekong Community) ผลลัพธ์จากการประชุมระดับผู้นำครั้งนี้ ได้แก่

  • การจัดทำแผนแม่บทระยะ 5 ปี หรือ Master Plan 2019-2023 ซึ่งเป็นแผนการดำเนินงานของกรอบความร่วมมือ ACMECS ในปัจจุบัน ประกอบด้วย 3 เป้าประสงค์/เสาหลัก ได้แก่ 1) การเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในอนุภูมิภาค (Seamless Connectivity) 2) การสอดประสานด้านเศรษฐกิจ (Synchronized ACMECS) และ 3) การพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืนและมีนวัตกรรม (Smart and Sustainable ACMECS)
  • การรับรองปฏิญญากรุงเทพฯ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกที่จะใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งและความหลากหลายของทั้ง 5 ประเทศสมาชิกที่จะร่วมมือกันแบบ Win-Win ในลักษณะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์
  • การประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 9 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีราชอาณาจักรกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ เมื่อปี 2563 (2020)

การประชุมครั้งที่เก้า ภายใต้หัวข้อ “หุ้นส่วนเพื่อความเชื่อมโยงและความยืดหยุ่น” (Partnership for Connectivity and Resilience) ในวันที่ 9 ธันวาคม 2563 มีการรับรอง “ปฏิญญาพนมเปญ” ซึ่งให้ความสำคัญต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมยุคหลังโควิด-19 และมีข้อสรุปสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ (1) ความตกลงขอบเขตการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนา ACMECS (2) ความตกลงกลไกการทำงานของคณะกรรมการประสานงาน 3 เสา (3) ความตกลงรายชื่อโครงการจำเป็นเร่งด่วน (4) การรับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ อินเดีย และออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอิสราเอล นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงในการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสำนักเลขาธิการ ACMECS และการเพิ่มสาขาที่ 4 “Safe, Secure and Trustworthy ACMECS” ในแผนแม่บท (De, P., Kumarasamy, D., & Pan, S, 2020; กระทรวงการต่างประเทศ, 2563)

บทบาทประเทศไทยในกรอบความร่วมมือ ACMECS

ประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มกรอบความร่วมมือ ACMECS และเป็นหัวจักรสำคัญในการผลักดันให้กรอบความร่วมมือมีความก้าวหน้า การริเริ่มดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่ประเทศไทยภายใต้รัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้หารือแนวทางการรวมกลุ่มกับอีก 3 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา ในระหว่างการประชุมคู่ขนาน (Sideline Meeting) ภายใต้การประชุมผู้นำอาเซียนว่าด้วยโรคซาร์ส (Special ASEAN Leaders Meeting on Severe Acute Respiratory Syndrome) ในวันที่ 29 เมษายน 2546 ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย โดย ณ ขณะนั้นเรียกการรวมกลุ่มนี้ว่า “Economic Cooperation Strategy” ต่อมาจึงเป็น “ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง” หรือ ACMECS ซึ่งมีเวียดนามเพิ่มมาเป็นสมาชิกลำดับที่ 5 ในเวลาต่อมา (ภูวิน บุณยะเวชชีวิน และกตมน เทพสีดาม, 2558)

ตลอดการประชุมระดับผู้นำ ACMECS ที่ผ่านมาทั้ง 9 ครั้ง รวมทั้งการประชุมย่อยอื่น ๆ ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการผลักดันประเด็นการหารือใหม่ ๆ ยกตัวอย่างเช่น การประชุมระดับรัฐมนตรี ACMECS ที่จังหวัดกระบี่ ประเทศไทย ในเดือนพฤศจิกายน 2547 ถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย ร่วมประชุมเพื่อหารือแนวทางที่จะมีส่วนร่วมในโครงการ ACMECS การประชุมครั้งนี้เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นที่ทำให้กรอบความร่วมมือ ACMECS ได้มีหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในปัจจุบัน

ต่อมาการประชุมระดับผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2548 ประเทศไทยได้แสดงบทบาทนำในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก โดยได้ประกาศจัดสรรงบประมาณจำนวน 100 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินการและป้องกันแก้ไขโรคไข้หวัดนกและโรคติดต่อร้ายแรงอื่น ๆ ในภูมิภาค ถัดมาการประชุมระดับผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 8 เมื่อปี 2561 ประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าภาพได้ผลักดันการประชุม ACMECS ได้สำเร็จลุล่วง นำมาซึ่งข้อสรุปในการจัดทำแผนแม่บท ACMECS Master Plan 2019-2023 และการรับรองปฏิญญากรุงเทพฯ ซึ่งทั้งหมดล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือ การส่งเสริมความร่วมมือแบบไร้รอยต่อระหว่างประเทศสมาชิกในอนุภูมิภาคภายใต้ความท้าทายใหม่

ในการประชุมระดับผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 9 โดยมีกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ผ่านระบบประชุมทางไกล ประเทศไทยโดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุม ได้ยืนยันเจตนารมณ์ที่จะสนับสนุนเงินจำนวน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนา ACMECS และสนับสนุนการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งสำนักเลขาธิการ ACMECS (กระทรวงการต่างประเทศ, 2563)

นอกจากนี้เมื่อพิจารณากลไกการดำเนินงานของประเทศไทยตามแผนแม่บท ACMECS Master Plan 2019-2023 กลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขง สำนักปลัดกระทรวงการต่างประเทศ จะรับผิดชอบบทบาทในการเป็นผู้ประสานงานหลัก และมีหน่วยงานอื่น ๆ ในประเทศไทย ร่วมรับผิดชอบการดำเนินงานในประเด็นต่าง ๆ เช่น ภายใต้เสาที่ 1 “Seamless Connectivity” มีกระทรวงคมนาคม รับผิดชอบประเด็นโครงสร้างพื้นฐาน และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รับผิดชอบประเด็นการเชื่อมโยงทางดิจิทัล ภายใต้เสาที่ 2 “Synchronized ACMECS” มีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รับผิดชอบด้านมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศ และภายใต้เสาที่ 3 “Smart and Sustainable ACMECS” มีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ รับผิดชอบมิติการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาที่ยั่งยืนอื่น ๆ

จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในกรอบความร่วมมือ ACMECS ในฐานะผู้ริเริ่มการรวมกลุ่ม ผู้ผลักดันประเด็นการหารือใหม่ ๆ ผู้สนับสนุนรายใหญ่ของกองทุนเพื่อการพัฒนา ACMECS และผู้ดำเนินงานตามขอบเขตหน้าที่ในแผนแม่บท ACMECS Master Plan 2019-2023


ที่มา : รายงานวิจัยเรื่อง โครงการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปเพื่อเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) สู่ความยั่งยืน, (2564), สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน)

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 116 facebook twitter mail
Top